เอแบคโพลล์ชี้ดัชนีความสุขคนไทยลดต่ำจากปัญหาม็อบ-ความไม่สงบในชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Sunday July 29, 2007 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยถึงผลสำรวจเรื่องรายงานดัชนีความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness Index) หรือ GDHI ของประชาชนภายในประเทศในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค.50 พบว่าความสุขมวลรวมของคนไทยลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 49 โดยครั้งล่าสุดความสุขของคนไทยลดลงเหลือ 5.02 ซึ่งถือว่ามีความสุขอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ 
โดยคนกรุงเทพฯ มีความสุขต่ำสุด ที่ 3.71 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ในขณะที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสุขสูงสุดที่ 5.13
จากการสำรวจพบว่าสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย (ค่าความสุขเฉลี่ยต่ำกว่า 5.00 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) เรียงตามลำดับ ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีค่าความสุขต่ำสุดอยู่ที่ 2.45 รองลงมาเป็นด้านสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า โทรศัพท์ น้ำประปา ได้เพียง 3.08 และระบบการค้าเสรีในกระแส โลกาภิวัฒน์ได้เพียง 3.60
ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนยังคงมีความสุขอยู่ได้ 3 อันดับแรก คือ การใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขมากเป็นอันดับหนึ่ง มีค่าความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 7.41 รองลงมาคือโครงการพระราชดำริต่างๆ อยู่ที่ 7.21 และอันดับ 3 คือสุขภาพกาย อยู่ที่ 6.94 คะแนน
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขหรือความทุกข์ 2 กลุ่มปัจจัย คือ ปัจจัยเฉพาะหน้าได้แก่สถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การชุมนุมประท้วงและสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, สภาวะเศรษฐกิจ และกลุ่มปัจจัยถาวรได้แก่ วัฒนธรรมประเพณี, ระบบการศึกษา, กระบวนการยุติธรรม, หลักธรรมาภิบาล และสภาพแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ปัจจัยเฉพาะหน้าที่เปรียบเสมือนสถานการณ์ที่คนกำลังจะจมน้ำซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน คือ สภาพปัญหา 5 ประการ กล่าวคือ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ และความแตกแยกในสังคม รองลงมาคือ ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเรื่องปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ผลกระทบค่าเงินบาท ภาระหนี้สิน, ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ยาเสพติด อาชญากรข้ามชาติ และปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน เป็นต้น
ทั้งนี้การสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจจากประชาชนใน 20 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,962 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ