เหล่านักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย ไต้หวัน และสวีเดน ได้ร่วมแบ่งปันความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าวที่มีต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หยิบยกความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่ระบาดในแง่มุมการแพทย์ว่า ตนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในไทย โดยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกรณีที่รัฐบาลไม่ปิดประเทศกับกรณีที่รัฐบาลปิดประเทศ จนท้ายที่สุดรัฐบาลก็ได้ตัดสินใจชะลอกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ และชัตดาวน์ครั้งใหญ่ในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. นั้น ก็ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการสาขาต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความบูรณาการหลายแง่มุม ขณะที่ประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องการอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้กราฟผู้ติดเชื้อของไทยเป็นรูประฆังคว่ำเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน จีน และเวียดนาม
ส่วนศ.ดร. Shyue-Liang Wang อธิการบดีมหาวิทยาลัย National University of Kaohsiung ไต้หวัน ได้แชร์เบื้องหลังความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก โดยดร. Shyue-Liang Wang เปิดเผยว่า ไต้หวันเลือกที่จะเรียนรู้จากการแพร่ระบาดครั้งก่อน ๆ ได้แก่ การระบาดของโรค SARS และไวรัส H1N1 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อดังกล่าวในไต้หวันค่อนข้างสูง จนเป็นเหตุให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ไต้หวันเลือกที่จะตอบโต้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสั่งปิดเที่ยวบินและใช้มาตรการกักตัวอย่างเข้มงวด ขณะที่ชาวไต้หวันเองก็ให้ความร่วมมือดีเหมือนคนไทย
สิ่งที่เหมือนกันในการรับมือกับโรคโควิด-19 ของไทยกับไต้หวันนั้น คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสม่ำเสมอกับประชาชน โดยทั้งนพ.ประสิทธิ์ และดร. Shyue-Liang Wang ระบุตรงกันว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใสแก่ประชาชน เช่น การแถลงข่าวเพื่อรายงานยอดผู้ติดเชื้อทุกวัน จะทำให้ประชาชนเห็นภาพและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี
สำหรับผลกระทบที่โควิด-19 มีต่อวงการอุดมศึกษานั้น คุณ Eddi Omrcen ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย University of Gothenburg ประเทศสวีเดน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยของตนได้หันไปเปิดคลาสสอนนักศึกษาออนไลน์เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีเพราะสวีเดนมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนบางวิชาก็เผชิญกับความยากลำบากโดยเฉพาะวิชาที่ต้องอาศัยการลงมือทำจริง เช่น ศิลปะการแสดง และการแพทย์ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมตามมาด้วย
ด้าน ดร. พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่สั่งปิดสถานศึกษาทุกแห่ง ขณะที่ไต้หวันและสวีเดนเลือกปิดสถาบันการศึกษาบางแห่งที่มีผู้ติดเชื้อ โดยไทยมีเวลาเพียงสัปดาห์เท่านั้น ในการเปลี่ยนไปทำการเรียนการสอนออนไลน์
ดร. พรชัย มองว่า ในยุคหลังโควิด-19 นั้น สถาบันอุดมศึกษาจะลงทุนในเรื่องการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น และปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบผสมออนไลน์-ออฟไลน์ อย่างไรก็ดี การเรียนออนไลน์ไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเนื้อหานั้นมีความสำคัญมากกว่ารูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของคุณ Eddi ที่ว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรมุ่งเน้นที่รูปแบบการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว เพราะเนื้อหาก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ