สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง "แรงหนุน แรงต้าน" โดยกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,123 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงจำนวนปี (ระยะเวลา) ที่จะมีปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีการกู้เงิน พบว่า ส่วนใหญ่ 68.2% ระบุ 4 – 5 ปี และมากกว่านั้น รองลงมาคือ 15.2% ระบุ 3 – 4 ปี ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงจำนวนปี (ระยะเวลา) ที่จะมีปัญหาเศรษฐกิจเมื่อมีการกู้เงิน พบว่าจำนวนปีมีปัญหาลดลงในมุมมองของประชาชน โดยส่วนใหญ่ 42.7% ระบุ 1 – 2 ปี หรือน้อยกว่านั้น รองลงมา 17.5% ระบุ 2 – 3 ปี
นอกจากนี้ ประชาชนยังได้ประเมินการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน ระหว่างฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน พบว่า ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสอบผ่านแบบฉิวเฉียด เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน กล่าวคือ ร้ฐบาลได้ 5.18 คะแนน และฝ่ายค้านได้ 5.03 คะแนน เมื่อจำแนกออกจากจุดยืนทางการเมืองพบว่า รัฐบาลได้คะแนนจากกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล 6.27 คะแนน จากผู้ไม่หนุนรัฐบาล 3.59 คะแนน และจากพลังเงียบ 6.07 คะแนน ในขณะที่ฝ่ายค้านได้คะแนนจากกลุ่มหนุนรัฐบาล 4.44 คะแนน จาก กลุ่มไม่หนุนรัฐบาล 5.53 คะแนน และจากพลังเงียบ 5.18 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อพิจารณาแนวโน้มจุดยืนการเมืองของประชาชนตั้งแต่เดือน กันยายน 2562 ถึง ช่วงอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 30 พ.ค.63 พบว่า ฐานสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 36.1% มาอยู่ที่ 39.1% แต่ ฐานไม่สนับสนุนรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นจาก 34.1% มาอยู่ที่ 39.0% และกลุ่มพลังเงียบลดลงจาก 29.8% เหลือ 21.9%
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า ในห้วงเวลานี้แรงหนุนรัฐบาล กับแรงต้านมีมากพอ ๆ กันและกลุ่มพลังเงียบก็หดตัวลง เป็นสถานการณ์อันตรายทางการเมืองที่อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายได้ การตัดสินใจของคณะผู้บริหารประเทศ จึงต้องยึดเอาความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชนระดับฐานรากเป็นหัวใจเสริมสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา
"รัฐบาลอาจจะตอบคำถามได้ว่า ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะรัฐบาลย่อมตอบได้แน่นอนว่าทำอะไรต่าง ๆ ไปเยอะแยะมากมาย แต่คำถามที่ว่าทำไปแล้วได้อะไร รัฐบาลน่าจะยังตอบได้ยากอยู่ เพราะถ้ารัฐบาลทำสิ่งที่ตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนทั้งประเทศได้จริง แรงหนุนย่อมมากกว่าแรงต้าน หรืออย่างน้อย ๆ พลังเงียบที่คอยถ่วงดุลควรจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้คือ แรงหนุน แรงต้าน มากพอ ๆ กัน เฉือนกันแค่ 0.1%" นายนพดล ระบุ