นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อสถาบันครอบครัว ว่า สถานการณ์โควิด-19 เปรียบเสมือนสึนามิ 2 ลูกซ้อนกัน ลูกแรกเป็นเรื่องของโรค แต่ลูกที่ 2 ใหญ่และรุนแรงกว่าคือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกว้างขวางเพราะแม้จะไม่ป่วยแต่ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ครอบครัวต่างๆ อาจจะไม่ติดเชื้อแต่เมื่อเผชิญภาวะตกงาน ไม่สามารถหารายรับเข้ามาชดเชยรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้ก็จะได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจะกว้างขวางกว่าแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยาวนานกว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะนานถึง 1 ปี หรือลากยาวไปถึง 3 ปี หรือบางครอบครัวอาจจะยาวนานกว่านั้น
เมื่อเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกลุ่มเป้าหมายสำคัญ 7 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนยากจนที่ลงทะเบียนไว้ 2.กลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ 3.กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน-ความดัน 4.กลุ่มครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 5.กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เพราะไม่มีบัญชีธนาคาร/ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือกลุ่มที่เห็นคนที่สถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าได้รับความช่วยเหลือซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะด้านจิตใจหดหู่มากขึ้นจนเกิดภาวะความซึมเศร้า 6.กลุ่มไร้สถานะทั้งหลาย เช่น แรงงานต่างด้าว เข้าเมืองผิดกฎหมาย 7.กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มชายขอบต่างๆ ซึ่งอาจจะอยู่ห่างไกล ภูมิคุ้มกันต่อโรคไม่มากเท่ากลุ่มอื่นๆ เมื่อได้รับเชื้อโรคจากกลุ่มอื่นก็อาจจะสูญพันธุ์ เช่นชาวอินเดียนแดงบางเผ่าที่ได้รับเชื้อโรคจากคนผิวขาว
สำหรับกลุ่มเปราะบางในเขตเมือง มี 2 กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ กลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มชุมชนแออัด เพราะกลไกในการดูแลยากลำบากกว่ากลุ่มเปราะบางในชนบทที่มี อสม.ที่เข้มแข็งไปดูแล รวมทั้งอาศัยเศรษฐกิจในเมืองในการประกอบอาชีพ รับจ้างในเขตเมือง เมื่อธุรกิจฝืดเคืองก็ได้รับผลกระทบตามมาด้วย
กลุ่มครอบครัวเปราะบาง มีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับภาระด้านต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.8 ล้านครอบครัว หรือคิดเป็นประชากร 15 ล้านคน ซึ่งจะต้องเผชิญกับสภาวะหนี้สิน เกิดการตกงาน จากอาชีพด้านท่องเที่ยว อาชีพบริการ อาชีพตัดผม แต่บางอาชีพมีความขาดแคลนปัจจัยสี่ และยังจะส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพจิต ความเครียดและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพราะวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้อาจจะไม่ต่างจากวิกฤติช่วงต้มยำกุ้งเพราะประเทศ G7 ที่เป็นพลังขับเคลื่อนก็เผชิญวิกฤติและหนักกว่าประเทศไทย ที่ตามมาคือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการหย่าร้าง
"กลไกต่างๆที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อยากให้มองผลกระทบเป็น 3 ระยะคือระยะเร่งด่วน คนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลืออะไรก็ควรเข้าไปตอบสนอง ระยะกลางที่จะเปิดคลายล็อกดาวน์มากขึ้นและมีผลกระทบตามมา เช่น การเปิดโรงเรียนและเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความสามารถในการเรียนรู้สำหรับครอบครัวที่ขาดอุปกรณ์...และระยะยาว ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูครอบครัวอาจจะควบคู่ไปกับกระบวนการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีนโยบายอยู่แล้ว ซึ่งเราเคยเผชิญชะตากรรมเช่นนี้มาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีโครงการกองทุนลงทุนทางสังคม หรือ SIF ซึ่งตอนนั้นมี SIF เมนู 5 ซึ่งเป็นแผนงานรองรับผลกระทบต่อกลุ่มที่เปราะบางโดยเฉพาะ ซึ่งการฟื้นฟูรอบนี้อาจจะอาศัยบทเรียนของกองทุนฟื้นฟูทางสังคมในอดีต เช่น อาจจะมีการสร้างสวัสดิการหรือสวัสดิภาพในชีวิตของกลุ่มคนที่เผชิญปัญหา การฟื้นฟูเครือข่ายที่จะทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน"นพ.โกมาตร กล่าว
ดังนั้น จึงเสนอว่าระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการตลาดเพียงอย่างเดียว เมื่อเผชิญกับวิกฤติที่กลไกการตลาดไม่สามารถทำงานได้ก็จะกลายเป็นเราไม่เหลือช่องทางอื่นใดที่จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเลย การแสวงหาเศรษฐกิจทางเลือก การแสวงหาทางออกในวิกฤติที่หลากหลายขึ้นก็อาจจะจำเป็นในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการพัฒนาเมื่อเราต้องเผชิญปัญหาหรือวิกฤติที่คาดไม่ถึง เพราะแนวโน้มในอนาคตอาจจะเผชิญกับปัญหาโรคระบาด วิกฤติสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งอาจจะส่งผลกระทบรุนแรง เพราะฉะนั้นการลงทุนครั้งนี้ควรเพื่อระยะยาวสามารถรับมือผลกระทบในแง่มุมต่างๆที่อาจจะขึ้นกับชุมชนไทย