สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,102 ราย อยู่ที่อันดับที่ 80 ของโลก รักษาหายเพิ่มขึ้น 3 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 2,971 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 73 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 รายเท่าเดิม
ผู้ป่วยรายใหม่ เป็นชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับจากประเทศคูเวต กลับถึงไทยวันที่ 24 พ.ค. และเข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพมหานคร ตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ และ ต่อมาตรวจครั้งที่ 2 ก่อนจะออก พบเชื้อแต่ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่รพ.ในกทม.
ตัวเลขของคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศคูเวตมีจำนวน 174 คน มีผู้ป่วยยืนยัน 32 รายแล้ว ทำให้สัดส่วนอัตราการป่วยตามประเทศต้นทางพุ่งขึ้นมาที่ 17.82% ต้องเฝ้าระวังกัน แต่ก็เป็นสิทธิของคนไทยที่จะได้กลับบ้าน ขณะที่คนไทยที่กลับมาและอยู่ในสถานกักกันของรัฐและตรวจพบเชื้อมีทั้งหมด 165 ราย
นพ.ทวีศิลป์ ระบุถึงกรณีสนามบินภูเก็ตที่ยังไม่เปิดให้บริการ ทั้งๆที่หลายสนามบินเปิดให้บริการแล้วว่า ศบค.ให้ความสำคัญต่อมาตรการการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดเกิดขึ้นในการผ่อนคลายระยะที่ 3 แต่เนื่องจากเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องของการโดยสารคนจำนวนมากและอาจจะเกิดความแออัดในพื้นที่ และในส่วนของสนามบินภูเก็ต ยังพบมีการติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ โดยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบเคสล่าสุดวันที่ 25 พ.ค. ดังนั้นหากพ้นช่วง 14 วันไปแล้วก็จะเปิดให้บริการได้
"ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 25 พ.ค.พบว่ายังคงมีการติดเชื้อในพื้นที่อยู่ ถือว่าในช่วง 14 วันยังมีการแพร่เชื้ออยู่ก็ต้องใช้เวลา ถ้าไม่มีเลยยาวไปถึงวันที่มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่สนามบินภูเก็ตดูแลตัวเองได้อย่างดี มีตัวเลขที่น่าพึงพอใจ สนามบินภูเก็ตได้เปิดแน่นอน"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
สำหรับหลักการพิจารณาเปิดสนามบินนั้น ทางคณะกรรมการเฉพาะกิจแบ่งกลุ่มสนามบินออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ท่าอากาศยานที่อยู่นอกสังกัด บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) และไม่พบประวัติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้เลยในระยะ 14 วันที่ผ่านมา และมีระบบควบคุมโรคที่ดี สามารถเปิดทำการได้เลย
กลุ่มที่ 2 เป็นท่าอากาศยานที่สังกัด บมจ. ท่าอากาศยานไทย และอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีประวัติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีข้อมูลผู้ป่วยประปรายในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และมีระบบควบคุมโรคที่ดี กรณีนี้ก็ให้เปิดทำการได้เช่นกัน
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สังกัด บมจ. ท่าอากาศยานไทย อยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง มีประวัติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนมากและระบบควบคุมโรคยังคงต้องมีการประเมิน
ส่วนจะมีการผ่อนปรนระยะ 4 เมื่อไหร่ และจะผ่อนปรนอีเว้นท์ ผับ บาร์ พร้อมกันได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลักการที่ผอ.ศบค.ให้ไว้ คือ อะไรที่พร้อมก็จะให้เปิดก่อน แต่ความพร้อมที่ว่าจะมีคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาศึกษา นำเสนอโดยกิจการ/กิจกรรมทั้งหลาย ซึ่งจะมีเลขา สมช.คอยรับฟัง
"ถ้าได้ภาพชัดเจนก็จะนำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า แต่ถ้าพอรับทราบได้ แต่ยังไม่ดีก็ส่งไปเป็นการบ้านให้คณะกรรมการฯมารับทราบใหม่อีกที โดยเจ้าของกิจการ/กิจกรรมนั้นต้องมีชุดข้อมูลที่หลายภาคส่วนต้องมาพิจารณากันไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมอนามัยมาช่วยกันคิด ช่วยกันพูด คิดว่าเร็วๆนี้คงมีข่าวดี"