นอกจากนี้ ยังได้นำวิธีการตรวจหาพันธุกรรมของไวรัสทางน้ำลายเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการตรวจแบบ RT PCR โดยการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้รวดเร็ว สำหรับการตรวจคนหมู่มาก ที่ไม่มีอาการ แต่ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีแนวโน้มในการตรวจตัวอย่างที่เป็นที่สงสัยเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาในการตรวจผู้ป่วยติดเชื้อหลายรายก็ได้นำวิธีดังกล่าวมาใช้ เช่นการตรวจกลุ่มเสี่ยงและชุมชนแออัด เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ขับรถรับจ้างและขนส่งสาธารณะ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น ที่มหาชัย นครปฐม ราชบุรี จำนวนรวม 6,380 ตัวอย่าง พบผลบวก 1 ตัวอย่าง และผลลบ 6,379 ตัวอย่าง
ส่วนการตรวจผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง (PUI) ยังคงใช้การตรวจแบบ RT PCR แบบเดิมเป็นหลัก
นพ.โอภาส กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยพบวัคซีนต้นแบบบางตัวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนจนสามารถนำไปใช้ป้องกันโรคได้
"กรมฯ ได้ทดสอบต้นแบบวัคซีนของโรงพยาบาลจุฬาฯ หลายอันพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี โดยได้นำตัวอย่างวัคซีนดังกล่าวมาเจือจางแล้ว 500 เท่า ยังสามารถป้องกันโรคได้ สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งจะนำไปฉีดในสัตว์ทดลองหรือในคนต่อไป...จะใช้ได้เมื่อไหร่คงบอกยาก บางครั้งต้องอาศัยจังหวะว่าวัคซีนที่เตรียมไว้กระตุ้นภูมิคุ้นกันได้ดี" นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเพียงพอ ไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ไม่สามารถดำเนินการได้หน่วยงานเดียวอย่างครบวงจร ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ถือว่าเป็นความก้าวหน้า แต่ถามว่าจะได้เมื่อไหร่คงไม่มีใครตอบได้ คิดว่าทุกคนคงเอาใจช่วยทีมพัฒนาวัคซีนให้ประสบความสำเร็จสามารถเอามาใช้งานได้จริง" นพ.โอภาส กล่าว