นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาการใช้ตัวอย่างน้ำลายในการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อใช้ในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องทำการตรวจคัดกรองคนจำนวนมาก เนื่องจากกระบวนการเก็บใช้เวลาไม่นาน ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างได้เอง และอุปกรณ์ในการเก็บหาได้ง่าย ราคาไม่แพง จึงได้จัดทำโครงการนำร่องคัดกรองโรคโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยง เขตสุขภาพที่ 4 และ 5 ขึ้น โดยการเก็บตัวอย่างน้ำลายจากส่วนลึกของลำคอ จากกลุ่มเสี่ยงและชุมชนแออัด เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ขับรถรับจ้างและขนส่งสาธารณะ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น จำนวนรวม 6,380 ตัวอย่าง พบผลบวก 1 ตัวอย่าง และผลลบ 6,379 ตัวอย่าง
ข้อมูลนี้ช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า การระบาดในประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่พบการระบาดในชุมชน ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบนั้นล้วนเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ผลการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงระบาดที่มีความสำคัญต่อการวางมาตรการควบคุมโรคในระยะถัดไป
กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำการขยายผลการคัดกรองโรคโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชน โดยตั้งเป้าทำการคัดกรองทั่วประเทศในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต และเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 89,993 ราย โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ การดำเนินการในเขต กทม. ได้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 4,856 จากเป้าหมาย 15,000 ราย พบผลตรวจเป็นลบทั้งหมด
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้การตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในวงกว้างมีความเป็นไปได้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้พัฒนาการตรวจแบบรวมตัวอย่าง หรือ Pool Sample เพื่อเป็นการลดต้นทุนการตรวจ และทำให้เข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าการตรวจโดยรวมตัวอย่างจำนวน 6 ตัวอย่าง จะสามารถลดต้นทุนการตรวจลงเหลือเพียง 1 ใน 4 โดยมีความไวต่ำกว่าการตรวจแบบปกติเล็กน้อย ซึ่งยังคงสามารถนำวิธีดังกล่าวมาใช้ในการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง หรือสถานที่เสี่ยงในลักษณะการเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ที่มีอัตราการตรวจพบโควิด-19 น้อยกว่าร้อยละ 1 ของกลุ่มประชากรได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ในต่างประเทศมีการใช้ตัวอย่างน้ำลายสำหรับตรวจเชื้อไวรัสทางเดินหายใจเนื่องจากเก็บตัวอย่างง่าย ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างได้เอง โดยความไวและความจำเพาะเมื่อใช้ตัวอย่างน้ำลายใกล้เคียงวิธีมาตรฐาน นอกจากนี้การศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีใช้การบ้วนน้ำลาย ความไวร้อยละ 84.2% ความจำเพาะ 98.9 % และ มีผลสอดคล้องกับการเก็บตัวอย่างวิธีมาตรฐาน NP Swab 97.5 %
"สำหรับการเตรียมตัวก่อนเก็บตัวอย่างน้ำลายนั้น สามารถเก็บตัวอย่างน้ำลายได้ทุกเวลา แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บน้ำลาย คือ ช่วงเช้าหลังตื่นนอน และไม่ควรแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปาก ไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ก่อนเก็บน้ำลายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้รบกวนการแปลผลได้ นอกจากนี้การตรวจเชื้อโควิด 19 จากน้ำลาย จะไม่ใช้ตรวจในกลุ่ม PUI ผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับวงระบาด และในกลุ่มที่มีอัตราการตรวจพบโควิด 19 สูง ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างแต่ไม่มี PPE เท่านั้น" นายแพทย์โอภาส กล่าว