สภาพัฒน์ชี้สังคมไทยน่าเป็นห่วง-ครอบครัวมีความสุขลดลง-คุณธรรมเสื่อมถอย

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2007 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางจุฑามาศ บาระมีชัย รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยว่า ในปี 49 ดัชนีอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยอยู่ในระดับ 64.04% ซึ่งเป็นระดับความสุขปานกลางจนถึงมีความสุขน้อย
การสำรวจแบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ การมีสุขภาวะอยู่ในระดับ 72.27% เพิ่มจาก 68.01% ในปี 44, ครอบครัวอบอุ่น 58.75% ลดจาก 67.87%, ชุมชนเข้มแข็ง 54.58% เพิ่มจาก 54.32%, เศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นธรรม 67.82% เพิ่มจาก 60.20%, สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุล 66.36% เพิ่มจาก 56.77% และสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล 61.17% เพิ่มจาก 59.74%
"ดัชนี้ทั้งหมดคงต้องร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องและต้องยกระดับให้ดีในระดับปานกลางต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในสังคมไทยในยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและความอบอุ่นของครัวเรือน" นางจุฑามาศ กล่าว
แม้นโยบายของภาครัฐจะพัฒนาคุณภาพคนทั้งทางสุขภาพและการศึกษาให้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ด้านจิตใจกลับมีจิตสำนึกในคุณธรรมที่เสื่อมถอยลง เนื่องจากวิถีชีวิตและค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันเพื่อความอยู่รอด มุ่งวัตถุและบริโภคนิยม จนนำไปสู่ปัญหาสังที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้น
"ด้านการศึกษาแม้จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้รับการศึกษาเฉลี่ย 8.5 ปี แต่ก็ยังมีคุณภาพที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเซียที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 10-12 ปี ดังนั้นภาครับจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาเรื่องของคุณภาพโดยเร่งด่วน" นางจุฑามาศ กล่าว
สภาพัฒน์เสนอให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษานำไปสู่การคิดเป็นทำเป็น และยึดคุณธรรมที่ชัดเจน รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและความสมานฉันท์ในสังคมเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างยั่งยืน, สร้างความเข้มแข็งและเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ, คุ้มครองแรงงานนอกระบบ, สนับสนุนให้ประชาชนออมเงิน เป็นต้น
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีสุขลดน้อยลง เนื่องจากครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายของสมาชิก รวมถึงมีหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยครัวเรือนละ 119,588 บาท สูงกว่าปี 45 ที่เฉลี่ย 82,485 บาท
ขณะเดียวกันผลการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดความเสื่อมถอยของระบบความน่าเชื่อถือ พฤติกรรมการดำรงชีวิต และความแตกแยกของครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะอัตราครอบครัวที่คู่สมรสแยกกันอยู่หรือการหย่าร้างมีแนวโน้มที่สูงมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ