นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดเฉพาะกิจพิจารณากิจการ/กิจกรรมที่จะผ่อนคลายให้มีการเปิดดำเนินการในระยะที่ 4 ที่มีการประชุมในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการยกร่างกิจการ/กิจกรรมเป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะให้ ศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะเริ่มให้เปิดได้เร็วที่สุดคือวันที่ 15 มิ.ย.นี้
ร่างมาตรการคลายล็อกระยะที่ 4 แบ่งเป็น 3 กลุ่มกิจการ/กิจกรรม คือ 1.การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา คือ โรงเรียนนานาชาติ และสถาบันกวดวิชา นอกเหนือจากการเปิดเทอมของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วันที่ 1 ก.ค. ตามปกติ นอกจากนี้ ให้หน่วยงานราชการ-กำกับของรัฐ อบรมสัมมนาในหลักสูตรฝึกอบรมที่หน่วยงานจัดขึ้น แต่ต้องดูแลนักเรียน มีระบบพื้นที่พอสมควร ให้นั่งเรียนห่างกัน เป็นต้น
2.กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แบ่งเป็น
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป ไม่รวมสถานบริการ ผับบาร์ คาราโอเกะ ซึ่งจะต้องเป็นไปด้วยความมีระเบียบ งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น ไม่มีการเชียร์เบียร์ โดยมาตรการหลัก 5+1 คือ อยู่ห่าง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิว ไม่แออัด และต้องลงทะเบียนไทยชนะ ส่วนมาตรการเสริม คือ ไม่ให้เสียงดัง บุฟเฟ่ต์งดตักอาหารส่วนกลางด้วยตัวเอง เป็นต้น โดยจะมีคู่มือปฏิบัติออกมา
ข.สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยหรือศูนย์เด็กเล็ก และสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่เคยอนุญาตให้เฉพาะพักค้างคืน ตอนนี้ให้เป็นแบบไปกลับได้ อย่างไรก็ตาม เด็กควรจะต้องมีพื้นที่ 2 ตารางเมตร/คน ผู้ดูแลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนาเด็กปฐมวัยและการป้องกันควบคุมโรคด้วย
ค.ห้องประชุมโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า สถานที่จัดนิทรรศการ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สถานที่ราชการเพื่อจัดประชุม อบรม สัมมนา โดยการประชุมอบรมสัมมนา คิดเกณฑ์ 4 ตารางเมตร/คน, จัดงานเลี้ยง อีเว้นท์ เปิดตัวสินค้า ประกวด แข่งขันกีฬาที่ไม่มีคนดู แต่ต้องมีระยะห่าง 1 เมตร และงานแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ต้องลดความหนาแน่น ต้องมีระเบียบ เกณฑ์คือ 5 ตารางเมตร/คน ต้องระวังการกระจายละอองฝอย งดกิจกรรมส่งเสิมการขายที่จะไปอยู่ใกล้ชิดกัน การจัดคอนเสิร์ต 2 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง
ง. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เช่น ท้องฟ้าจำลอง
จ. การขนส่งสาธารณะ อาจให้นั่งติดกัน 2 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง โดยจำกัดไม่เกิน 70% ของความจุผู้โดยสารตามมาตรฐาน
3. กิจกรรมด้านออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ และสันทนาการ แบ่งเป็น
ก.กองถ่ายขนาดใหญ่รวมทุกแผนกไม่เกิน 150 คน มีผู้เข้าชมไม่เกิน 50 คน โดยแนะนำให้หน้ากากอนามัยแทนการใส่ Face Shield อย่างเดียว
ข. สถานประกอบการด้านสุขภาพ สปา ออนเซ็น อบตัว สมุนไพร อบไอน้ำแบบรวม แต่ยังยกเว้นกิจการอาบอบนวด และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการต่อรอบ คิดตามเกณฑ์ 5 ตารางเมตร/คน
ค. สวนสุนก สนามเด็กเล่น สวนน้ำ สระว่ายน้ำสาธารณะ ต้องมีไลฟ์การ์ดคอยดูแลให้คำแนะนำ แต่ยังยกเว้น บ้านบอล เพราะสารคัดหลั่งจะไปอยู่กับลูกบอล ทำความสะอาดยาก และเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค ส่วนสวนน้ำและสระว่ายน้ำ คิดเกณฑ์ 8 ตารางเมตร/คน
ง. สนามกีฬาประเภทกลางแจ้ง โรงเรียนศิลปะการต่อสู้ โรงยิม และสถานที่ออกกำลังกายทุกประเภทกีฬาสากล เพื่อออกกำลังกาย ฝึกซ้อม การเรียนการสอน ทำได้หมด โดยจัดแข่งขันได้แต่ต้องไม่มีผู้ชม อาจจะถ่ายทอดสดได้ และต้องไม่มีกิจกรรมอื่นมาร่วมด้วย เช่น การส่งเสริมการขายต่างๆ
จ. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สามารถจัดกิจกรรมรวมกลุ่มได้ เช่น เต้นแอโรบิค รวมกลุ่ม คิดเกณฑ์ 5 ตารางเมตร/คน รวมกันไม่เกิน 50 คน
ฉ. ตู้เกมส์และเครื่องเล่นหยอดเหรียญใน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงมหรสพ สวนสนุก ยกเว้นร้านเกมส์ภายนอก และจำกัดเวลาครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง
"เน้นย้ำว่ารายละเอียดตรงนี้เป็นเพียงฉบับร่าง อาจจะมีการปรับเปลี่ยน อาจจะมีการยกเลิก หรือเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีการประชุมกันในเช้าวันศุกร์ที่ 12 มิ.ย. แต่เบื้องต้นมีประมาณนี้ โดยท่านอาจจะช่วยกันจำแนกแยกแยะวิเคราะห์หรือช่วยกันออกแบบ ถ้าอยากมีกิจการกิจกรรมต่างๆ เหมือนก่อนที่จะมีโควิด เราจะต้องการทุกอย่างอย่างนั้นไม่ได้ ชีวิตวิถีใหม่ที่ว่าจะต้องเข้ามาตรงนี้ ต้องคำนึงถึงว่าถ้าเราไปกิจกรรมนี้หากติดเชื้อขึ้นมาจะจัดการตัวเองและคนอื่นๆได้อย่างไร และทำอย่างไรให้ปลอดเชื้อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เศรษฐกิจต่างๆ หมุนเวียนไปได้ นี่คือสิ่งที่ ศบค.และคณะทั้งหลายพยายามทำให้ได้มากที่สุด" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
สำหรับกระแสข่าวมีการเตรียมทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วันนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีการหารือกัน คงต้องติดตามการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้อีกครั้งหนึ่ง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการหารือเรื่องการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวด้านสุขภาพในประเทศไทยว่า มีเป็นข้อพิจารณามาก่อนหน้านี้บ้าง แต่การประชุมเช้าวันนี้ยังไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้ ซึ่งคณะกรรมการชุดย่อยได้หารือข้อเสนอการเปิดท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble จับคู่กันประเทศที่มีการติดเชื้อน้อยๆ หรือบางประเทศที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้สามารถเข้ามาได้ก่อน
"การปล่อยเข้ามา 1 ก็ต้องคิดว่าทำไมประเทศนั้นได้ ไม่ได้ หลายประเทศก็อยากเข้ามา ต้องคิดแง่มุมค่าใช้จ่ายในการที่มีคนป่วยด้วย ต้องคิดในหลายมิติ"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงเหตุผลที่ยังไม่ผ่อนปรนให้เปิดผับบาร์ คาราโอเกะว่า เพราะจัดกลุ่มไว้ว่าเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงสูง จากที่เคยมีรายงานก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน เช่น กรณีสถานบริการในทองหล่อ และกิจการดังกล่าวถือว่ามีผลผลักดันเศรษฐกิจไม่มากเท่ากิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเริ่มต้นมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 น่าจะอยู่ในช่วงกลาง มิ.ย.ถึงสิ้นเดือนมิ.ย. อาจจะเป็นวันที่ 15 มิ.ย. ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 4 เต็มที่
"ต้องขอบคุณประชาชนที่ทำให้การติดเชื้อในประเทศไทยยังไม่พบการรายงานมาติดต่อกัน 2 สัปดาห์กว่าๆ แล้ว ก็ขอให้ยาวต่อไปอีก ตอนนี้ก็มีข่าวว่าประเทศจีนยังปิดอยู่ แต่จะให้คน 1,400 ล้านคนท่องเที่ยวกันในประเทศกันเองเงินหมุนเวียนกันภายในประเทศ ซึ่งถ้าไทยเที่ยวไทยกันเอง เม็ดเงิน 30% โดยประมาณก็สามารถใช้ช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คนไทยปราศจากเชื้อ อยู่ด้วยกันเจอกันก็สบายใจ ดีกว่าเห็นคนจากนอกเข้ามา และไม่รู้ว่าเอาเชื้อเข้ามาหรือไม่ แต่คนไทยเราตอนนี้ไม่มีรายงานเลย ถ้า 20 วัน หรือเลยไปเป็นเดือนไม่มีเชื้อเลย ไปไหนมาไหนสบาย อยากให้เป็นภาพนั้น"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว