พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 3/2563 เปิดเผยว่า กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณภาคภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกันเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรัดกุมและรอบด้าน รวมทั้งให้มีการเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปพร้อมกันด้วย
พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2563 โดยขณะนี้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินงานรุดหน้าไปแล้วในหลายส่วน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปีนี้ว่าหลายพื้นอาจที่มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพื่อรองรับน้ำหลาก ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2563 สำหรับทุ่งรับน้ำใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ ลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ให้จัดเตรียมพื้นที่ให้แล้วเสร็จในปีต่อไป 2) ให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและเกณฑ์ระบายน้ำในส่วนที่เหลือ ให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563
3) ให้กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตปริมณฑล จัดทำเกณฑ์การระบายน้ำ การควบคุมระดับน้ำ การสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 13 แห่ง ให้ชัดเจน และกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังและแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร 4) ให้กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปรับแผนงานปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปี 2563 ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมจัดทำแผนงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ ในปี 2565 และ 5) ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งรัดการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้ทันเวลาและลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อทรัพย์สิน ชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ได้สั่งการในการเร่งพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดิน ตามหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอ โดยเฉพาะท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ดำเนินการเก็บน้ำใต้ดินให้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ซึ่ง สทนช.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป