พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพิจารณาวาระและมาตรการต่างๆ หลายเรื่อง รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) ด้วย โดยจะเป็นการหารือในเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปทันที
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความเป็นห่วงกรณีจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นนั้น พล.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้
ส่วนจะมีการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) หรือไม่จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยได้มีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีถึงการนำกฎหมายฉบับใดที่บังคับใช้แทนแล้ว ทำให้การดูแลป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ พร้อมกับยืนยันว่า ไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะต่อหรือไม่ต่อการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะต้องพิจารณาหลายๆทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากที่สุด โดยย้ำว่าสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการพิจารณาคือ การดำเนินการด้านสาธารณสุข เพียงแต่ต้องมีกลไกอื่นๆมาประกอบ และต้องมองการทำงานในทุกมิติ
ทั้งนี้ ในส่วนของสาธารณสุข ขณะนี้ยังมีความกังวล เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบที่ 2 ของหลายประเทศ ซึ่งทำให้มองเห็นว่าสถานการณ์โดยรอบของโลกยังไม่น่าไว้วางใจ จึงต้องนำทุกอย่างมาพิจารณาด้วย รวมถึงตัวเลขความร่วมมือของประชาชน ที่นายกรัฐมนตรี มองว่า แม้ที่ผ่านมาทุกคนจะให้ความร่วมมือ แต่ช่วงหลังนี้อาจจะมีการ์ดตกบ้าง เช่น กรณีการยกเลิกเคอร์ฟิว แล้วมีการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะถ้าหากมีการทำในสิ่งที่เกินกว่าเหตุ ก็อาจพิจารณากลับมาใช้มาตรการเคอร์ฟิวได้ จึงขอให้สื่อและทุกคนช่วยกันทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นมาตรฐานที่ดีอยู่แล้วขอให้ทำต่อ เพราะแม้จะประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแต่ก็ได้มีการผ่อนคลายเกือบทั้งหมด และการที่ยกเลิกเคอร์ฟิวก็ทำให้ทุกอย่างดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การพิจารณานั้นไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านการเมือง ดังนั้นการจะต่อหรือไม่ต่อพ.ร.ก.จะไม่มีปัจจัยด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากมีการชุมนุมทางการเมืองก็มีกฎหมายที่ใช้ดูแลได้ไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน