ศาลรธน. ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการฯ กรณีรัฐมีกำลังผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 51% ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 17, 2020 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับร้องเรียนจากนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล และนายกฤษณ์ ไตลังคะ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) โดยการลดกำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐซึ่งเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% เป็นการที่หน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสอง รวมถึงประชาชนคนไทยซึ่งเป็นผู้บริโภคตามที่รัฐธรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 46 และมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 กฎ ข้อบังคับ และการกระทำในเรื่องดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกระทำการดังกล่าวอันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐ รัฐธรรมนูญมาตรา 51 บัญญัติให้สิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 45 บัญญัติให้ผู้ร้องเรียนทั้งสองในฐานะประชาชนสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยกระบวนการร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว

กรณีตามคำร้องจึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่ผู้ร้องเรียนยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว จึงต้องด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ