พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย จาก State Quarantine ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนในประเทศไม่พบผู้ป่วยในประเทศต่อเนื่องมา 24 วัน
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,141 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยในสถานเฝ้าระวัง State Quarantine จำนวน 697 ราย วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 2,997 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 86 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 6 รายเป็นนักศึกษาชาย 5 รายที่เดินทางกลับมาจากซาอุดิอาระเบีย อายุตั้งแต่ 23-27 ปี (2 ราย) เข้าพักโรงแรมใน กทม. ตรวจพบเชื้อในวันที่ 16 มิ.ย.ทุกรายไม่มีอาการ ขณะนี้อยู่ในระบบการรักษา และอีก 1 รายเป็นเพศหญิงวัย 26 ปี เดินทางมาจากอินเดียเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เริ่มป่วยเมื่อ 16 มิ.ย. ด้วยอาการไข้ 38.5 องศา เข้ารับการรักษาที่ จ.ชลบุรี
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ ในส่วนของประเทศจีนว่า ขณะนี้กรุงปักกิ่งได้ออกมาตรการให้นักเรียนกลับมาเรียนออนไลน์ที่บ้านอีกครั้ง หลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น จากที่ไม่พบการระบาดมานานหลายสัปดาห์ ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาเทศบาลนครปักกิ่ง ได้ย้ำให้โรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด โดยครู อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในโรงเรียน ทั้งนี้นักเรียนสามารถเลือกจะเรียนจากที่บ้านได้ และหลายหน่วยงานในปักกิ่งตัดสินใจเลื่อนเปิดเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถม 1-3 ซึ่งเดิมมีกำหนเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ออกไป รวมทั้งระงับการจัดกิจกรรมกีฬาทั้งหมดด้วย
ขณะที่ความกังวลภายในประเทศต่อการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้า, รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสารซึ่งพบว่ามีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น หลังจากมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 นั้น พญ.พรรณประภา กล่าวว่า จากที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. รวมถึงการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ประกอบกับวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะเริ่มเปิดภาคเรียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความหนาแน่นมากขึ้นในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
ทั้งนี้ ตามประกาศของ ศบค. ฉบับที่ 5/2563 เรื่องบริการขนส่งสาธารณะ ได้ระบุให้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ มีความหนาแน่นได้ 70% ของความจุผู้โดยสารเท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงพบว่าประชาชนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะมีความหนาแน่นมากกว่านั้น ดังนั้นในเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังตัวเองเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อและแพร่เชื้อต่อได้ โดยยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ ลดการสัมผัสในพื้นที่สัมผัสร่วม เช่น เสา, ราวจับ ในขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือหากเป็นไปได้ควรเผื่อเวลาการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปใช้บริการเมื่อมีผู้โดยสารหนาแน่น และรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไปแทน