ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความทรงจำประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,766 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 18 - 19 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.1 ได้รับผลกระทบเกิดความทุกข์ยาก เดือดร้อน ช่วงโควิด-19 ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.9 ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงมาตรการของกระทรวงต่าง ๆ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีที่ช่วยลดความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ระบุ กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แจกเงินเยียวยาให้ประชาชน เป็นมาตรการช่วยลดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน รองลงมาคือร้อยละ 56.3 ระบุ กระทรวงพลังงาน เรื่อง ลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และแจกแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่าง ๆ ร้อยละ 43.2 ระบุกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำประปา ในขณะที่ ร้อยละ 12.3 ระบุกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง แจกหน้ากากอนามัย และร้อยละ 2.7 ระบุกระทรวงดิจิทัล เรื่อง โทรฟรี ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการติดตามดู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อเย็นวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ระบุไม่ได้ติดตาม ในขณะที่ร้อยละ 27.4 ระบุติดตาม
นอกจากนี้ ระดับความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถ้าทำได้ตามที่พูดในรายการโทรทัศน์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุมีความเชื่อมั่นศรัทธาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึงไม่เพิ่มขึ้นเลย ร้อยละ 9.6 ระบุเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย ร้อยละ 14.9 ระบุเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และร้อยละ 9.2 ระบุเพิ่มขึ้นมากถึงมากที่สุด
ที่น่าเป็นห่วงคือ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ดีที่สุดมีอยู่ในตอนนี้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 28.4 ระบุยังมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ดีที่สุดอยู่ในตอนนี้ แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.6 ระบุไม่มี
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ความทรงจำของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ถ้าประชาชนมีความทรงจำที่ดีต่อรัฐบาลก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ โดยผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศเป็นทุกข์และเดือดร้อนช่วงโควิด-19 ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเดือดร้อนทุกข์ยากเหมือนกับประชาชนทั่วไปหรือไม่ แต่ยังดีที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่ได้ปล่อยปละละเลยความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนจึงได้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเยียวยาจนเป็นที่จดจำ (Remarkable) ที่ไม่ใช่แค่การรับรู้ (Perception) เพราะมาตรการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ไม่ใช่แค่วาทะกรรมทางการเมืองที่ฟังแล้วดูดี