(เพิ่มเติม) COVID-19: ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 3 รายจากตปท. แต่ในประเทศไม่พบต่อเนื่อง 28 วัน

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2020 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) COVID-19: ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 3 รายจากตปท. แต่ในประเทศไม่พบต่อเนื่อง 28 วัน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันตัวของรัฐ (State Quarantine) ส่วนภายในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 28 วัน

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,151 ราย วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มอีก 4 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,022 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 71 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย เป็นหญิงวัย 11 ,21 และ 34 ปี ที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดียถึงไทยวันที่ 15 มิ.ย.และเข้าพัก State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี จากนั้นมาตรวจหาเชื้อในวันที่ 20 มิ.ย.ผลตรวจพบการติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ

สำหรับคนไทยที่เดินทางมาจากอินเดียทั้งหมด 2,665 ราย พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 14 ราย

โฆษก ศบค.กล่าวว่า แม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อกันเองภายในประเทศเป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 28 วันแล้ว แต่คงยังไม่สามารถผ่อนคลายในทุกกิจกรรมให้กลับมาเป็นปกติได้ในขณะนี้ เพราะแม้จะป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศได้ แต่หากมีการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศมาแม้เพียง 1 คน ก็จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ขยายวงเพิ่มขึ้นในประเทศได้

"ถึงแม้จะไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องกันถึง 28 วัน ซึ่งทำให้อุ่นใจได้ แต่สถานการณ์ก็ยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อมากถึง 9 ล้านคนแล้ว และแต่ละวัน มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวมกว่าแสนรายต่อวัน" นพ.ทวีศิลป์ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ชุดเฉพาะกิจของ ศบค.ได้มีการหารือถึงมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ยอมรับการถูกกักตัวใน State Quarantine ประกอบด้วย 4 กลุ่มย่อย คือ 1.นักธุรกิจ นักลงทุนทั่วไป ราว 700 คน 2.แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ 22,000 คน 3.คนต่างด้าวที่มีครอบครัวในไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในไทย 2,000 คน และ 4.กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพหรือทางการแพทย์ 30,000 คน

"โดยใน 4 กลุ่มย่อยนี้ จะมีการเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ให้สามารถทำได้เลย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในธุรกิจ โดยกลุ่มนี้สามารถเดินทางเข้า-ออก ไม่ว่าเป็นประเทศไหน พอเข้ามาแล้วเราจะให้เข้า State Quarantine กลุ่มนี้ทำได้เลย" นพ.ทวีศิลป์ระบุ

ส่วนกลุ่มสอง คือกลุ่มที่ขอผ่อนผันไม่เข้ารับการกักตัวใน State Quarantine มี 3 กลุ่มย่อย คือ 1.นักธุรกิจ-นักลงทุน ที่เข้ามาไทยในระยะสั้นเพียง 2-3 วัน ซึ่งเป็นการยากที่จะเข้า State Quarantine ถึง 14 วัน 2.แขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการต่างๆ ที่เข้ามาประชุมหรือเป็นวิทยากร ที่เข้ามาระยะสั้นๆ 3.นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาตามโครงการ Travel Bubble ซึ่งในกลุ่มนี้จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวด เพื่อวางแผนรองรับได้ดี ซึ่งคาดว่ากลุ่มนี้จะมีจำนวนมาก โดยประเทศหลักๆ เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

"จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดย พล.อ.ณัฐพล นาควานิช รับผิดชอบเรื่องนี้ จะนำเสนอ ศบค. ผ่านทาง สมช.ในการประชุมชุดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้" โฆษก ศบค.ระบุ

สำหรับการนำคนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับเข้าประเทศวันนี้ จะมีรวมทั้งสิ้น 429 คน โดยเดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา 78 คน, รัสเซีย 34 คน, ออสเตรีย/ฮังการี 159 คน, สิงคโปร์ 156 คน และไต้หวัน 2 คน ส่วนวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) จะเดินทางกลับเข้าประเทศอีก 476 คน โดยมาจากเนปาล 10 คน, ญี่ปุ่น 201 คน, อินเดีย 185 คน และเวียดนาม 80 คน

โฆษกศบค. ชี้แจงถึงกรณีมีข่าวว่าแรงงานชาวเมียนมา 23 คนที่เดินทางกลับเข้าประเทศไปแล้วติดเชื้อโควิดมาจากประเทศไทยว่า จากข้อมูลทางฝ่ายไทยทราบว่าในจำนวนนั้นมีแรงงาน 19 คนที่ได้ผ่านการกักตัวครบ 14 วันแล้วจากประเทศไทย และถูกส่งตัวกลับไปยังเมียนมาตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ส่วนที่เหลืออีก 4 คน อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล ซึ่งจะได้มีการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับเมียนมาต่อไป

ส่วนกรณีที่พบว่ามีการเสียชีวิตของผู้ที่ถูกกักตัวอยู่ใน State Quarantine ซึ่งเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วยนั้น นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองมีความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว ว่าจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการดูแลผู้ที่เข้ามารับการกักตัวใน State Quarantine โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเห็นว่าควรต้องนำไปสังเกตอาการอยู่ในโรงพยาบาลจะเหมาะสมกว่า

"จากจำนวน 40,000 กว่าคนที่เราดูแลใน State Quarantine และ Local Quarantine รายนี้ถือเป็นรายแรก ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญของเรา ท่านนายกฯ มีความห่วงใยกับเรื่องนี้มากให้ดูว่ามีมาตรการอะไรที่จะเข้ามาดูแล ซึ่งล่าสุด เราได้มีมาตรการคุมเข้มมากขึ้นแล้ว โดยหากพบว่าเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก็จะไม่ให้เข้า State Quarantine แต่จะส่งไปสังเกตอาการที่ Hospital Quarantine แทน กรณีนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เราจะต้องดูแลอย่างเข้มข้นมากขึ้น" โฆษกศบค.ระบุ

ด้านนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมจากที่โรงเรียนทั่วประเทศจะเริ่มเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ว่า ในภาคเรียนใหม่นี้จะอยู่ในแคมเปญ Back to Healthy School หรือโรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข โดยจะเริ่มภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-14 พ.ย.63 รวมระยะเวลา 180 วัน ลดลงจากของเดิมที่มีระยะเวลาการเรียนการสอนอยู่ที่ 200 วัน ทั้งนี้ จะมีมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดของกรมอนามัยในการเปิดเรียนทั่วประเทศ มีการวางแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในระหว่างเปิดภาคเรียนที่สำคัญ เช่น การคัดกรองสุขภาพ, ตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือ และจัดเตรียมสบู่-แอลกอฮอล์, ลดความแออัด, การเว้นระยะห่าง และการทำความสะอาดพื้นที่

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามาตรการเรื่องเว้นระยะห่างที่กำหนดให้ต้องเว้นระยะ 1.5 เมตรภายในห้องเรียน อาจจะเป็นเพียงข้อเดียวที่ทำได้ยาก ซึ่งทำให้โรงเรียนบางแห่งที่มีนักเรียนจำนวนมาก จำเป็นต้องสลับช่วงเวลาเรียน โดยพบว่ามีโรงเรียน 31,000 แห่งทั่วประเทศที่มีความพร้อมปฏิบัติเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างสำหรับโต๊ะเรียน 1.5 เมตร ขณะที่โรงเรียนอีก 4,500 แห่ง ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งทำให้ต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน เช่น สลับวันเรียน วันคู่-วันคี่, สลับเวลาเรียนเช้า-บ่าย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากโรงเรียนใดที่พบว่ามีนักเรียนต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ได้วางมาตรการเป็นลำดับขั้นดังนี้ 1.คัดแยกผู้มีอาการ 2.แจ้งผู้ปกครอง 3.แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาด 3 วัน 4.ให้ผู้ใกล้ชิดหยุดสังเกตอาการ 14 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ