น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณจากพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และ คณะอนุกรรมการเสริมสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม เพื่อเน้นการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานใช้จ่ายงบประมาณแก่ประชาชน ลดการทุจริต สนับสนุนการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคประชาสังคม
พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงผลประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า รัฐบาลได้กำหนดกลไก 4 เรื่องเพื่อเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้งบประมาณมีการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และทุกโครงการต้องปราศจากการทุจริต โดยมีกลไกเฝ้าระวัง 4 ด้าน คือ การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัย อาญา โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็ว เด็ดขาดและเป็นธรรม
ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันที พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ท. โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของแต่ละโครงการที่ได้รับการร้องเรียน จากนั้นจะบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตอย่างเข้มงวดต่อไป อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งทุกเรื่องที่มีการร้องเรียนจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบโครงการใดแล้วพบว่ามีการทุจริตก็จะส่งเรื่องให้ป.ป.ช. พิจารณา แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง วินัย และอาญา ทางสำนักงาน ปปท.จะติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและรายงานต่อ ศอตช.ต่อไป
ขณะเดียวกันหากพบผู้กระทำความผิดก็จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด พร้อมยืนยันการบูรณาการหลายหน่วยงานจะไม่มีผลทางการปฎิบัติอย่างแน่นอน
พ.ต.ท.วันนพ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ป.ป.ท.ได้ปฎิบัติการเชิงรุกเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณการจัดซื้อพัสดุสำหรับป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิด-19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 73 หน่วยงาน ใน 37 จังหวัด ซึ่งพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง 16 รายการ จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ในการนี้หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ ข้าราชการ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะแจ้งไปยังต้นสังกัดเพื่อดำเนินการตามกฏหมายต่อไป
ส่วนกรณีที่มี อปท.บางแห่งแจกเงินให้ชาวบ้านระหว่างที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 จะมีความผิดหรือไม่นั้น ในที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาและกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า การดำเนินการต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวง ซึ่งจะต้องไปดูตามระเบียบว่ามีหลักเกณฑ์ปฏิบัติอย่างไร หากเข้าข่ายหลักเกณฑ์ก็อาจจะมีความผิด ซึ่งต้องตรวจสอบเป็นรายกรณี