นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำข้อเสนอต่างๆ ในการเปิดการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะรูปแบบ Travel Bubble เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่สุดท้ายเป็นเรื่องที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่จะพิจารณาในวันที่ 29 มิ.ย.นี้
"ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมา 31 วันแล้ว และการที่จะทำให้ในประเทศเป็น 0 ไปเรื่อยๆ มันมีต้นทุนคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราต้องยอมรับ แต่ในทางกลับกันถ้าเราปล่อยให้มีผู้ป่วยโควิดมากเกินไปจนระบบของประเทศรองรับไม่ได้ ตอนนั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน แต่ก็มีจุดที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ ยอมให้มีคนไข้ในประเทศจำนวนหนึ่งที่สามารถจัดการได้ และขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็เดินไปได้ด้วย ต้องทำความสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้"นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยจากประเทศที่จะจับคู่ Travel Bubble พบว่า จีน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย 27.6% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 28.1% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด มาเลเซีย 10.5% สร้างรายได้ 5.5% ญี่ปุ่น 4.5% สร้างรายได้ 4.6%
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การทำ Travel Bubble ระยะต้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ไม่ใช่การเปิดให้เดินทางโดยเสรี โดยจะต้องคำนึงถึงหลักการต่างๆ เช่น ดูจาก Country Risk (เสี่ยงต่ำ, ปานกลาง, สูง) เจรจากับประเทศเสี่ยงต่ำเป็นคู่ๆไป, Personal Risk กำหนดกลุ่มบุคคลที่ให้เข้ามาในแต่ละระยะ, Activity Risk กำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมในประเทศ
นอกจากนี้ต้องมีมาตรการ (ขั้นตอน) ต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง>เดินทาง>มาถึง>ที่พัก>ระหว่างอยู่ในประเทศไทย
กรณีต้นทางจะต้องมีการตรวจคัดกรอง โควิด-19 โดยกำหนดระยะเวลาบางประเทศ 48 ชม. แต่ของไทยกำหนดไว้ 72 ชม. มีการประกันที่ครอบคลุม การตรวจรักษาโควิด-19, Travel Certificate/visa ออกโดยสถานทูตไทยที่อธิบายถึงมาตรการในการป้องกันโรคของประเทศไทย ผู้เดินทางควรอาศัยอยู่ในประเทศกลุ่ม Travel Bubble ไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย
กรณีระหว่างเดินทาง ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ลด/หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้โดยสารด้วยกัน ลูกเรือ-ผู้โดยสาร มีระยะห่าง แยกโซนผู้โดยสารที่มีอาการ มีชุด PPE สำหรับลูกเรือ
กรณีมาถึง แยกสนามบินชัดเจน แยกโซนในสนามบิน แยกโซนในอาคารระหว่างประเทศกลุ่ม Green/Yellow/Red ขณะที่ผู้เดินทางเข้าทุกคนต้องมี Application ติดตาม การเดินทางด้วยรถของโรงแรมเท่านั้น ห้ามใช้รถขนส่งสาธารณะ
ในส่วนของที่พัก เข้าพักได้เฉพาะโรงแรมที่ระบุหรือที่พักที่กำหนดเท่านั้น จัดชั้นที่พักแยกเฉพาะสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ จัดทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน/โรงพยาบาลรัฐ ผู้เดินทางทุกคนต้องอยู่ในห้องพักจนกว่าผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะออก หากผลเป็น Negative ก็สามารถ Check out เพื่อเดินทางต่อได้
และระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย มีระบบติดตามตัว มีการบังคับใช้ จับกุม ปรับ เนรเทศหากผู้เดินทางไม่รับโทรศัพท์ หรือลบ Application หรือปิด 4G/GPS/Bluetooth/โทรศัพท์ ซึ่งจะมี Contact Center หลายช่องทาง หลายภาษา
"ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศที่จับคู่ด้วยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ในระยะสั้นส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางไปตามคำเชิญ ธุรกิจ ถ้าคนไทยจะไปก็ต้องทำตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด...กรณีคนต่างชาติในประเทศที่จับคู่ Bubble กับไทยถ้าเป็นกลุ่มบุคคลเฉพาะที่กำหนดไว้เป็นกรณ๊พิเศษไม่ต้องถูกกักตัว 14 วัน"นพ.ศุภกิจ กล่าว