พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม สมช.เห็นชอบขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จากที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อให้การผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ที่เป็นกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 มิ.ย.63 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. เพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าด้วย
"กิจการที่เราผ่อนคลายในระยะที่ 5 มีความล่อแหลมมากที่สุดต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกสักระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากิจการที่ล่อแหลมเหล่านี้จะได้การกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ" พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า แม้สถานการณ์โดยรวมในประเทศดีขึ้น แต่ยังมีความกังวลว่าอาจมีการแพร่ระบาดระลอก 2 และสถานการณ์อาจรุนแรงกว่า ส่งผลให้สิ่งที่ได้ดำเนินการมาตลอดนั้นสูญเปล่า และเศรษฐกิจได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่แม้หากเกิดการระบาดเกิดขึ้น ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
เลขาธิการ สมช. ชี้แจงด้วยว่า หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องนำกฏหมายอื่นมาใช้ถึง 5 ฉบับมากำกับดูแลให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และก็ไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่ากับพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ โดยเฉพาะพ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ และไม่มีมาตรการที่ช่วยป้องกันในเชิงรุกได้
อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ค.หากสถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้นในช่วงวันที่ 1-15 ก.ค.ก็สามารถพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนกำหนดได้ หรือสามารถเพิ่มมาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้นได้ หากพบว่ากิจการใดเป็นต้นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2
พล.อ.สมศักดิ์ ย้ำว่า การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีก 1 เดือนไม่มีนัยทางการเมือง เพราะเป็นการใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดเป็นหลัก และในการชุมนุมทางการเมืองในหลายจุดเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าไปดูแลสถานการณ์แต่อย่างใด แต่ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ อีกทั้งการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน ก็ไม่ได้มีประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่มีนัยทางการเมืองแน่นอน และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป
เลขาธิการ สมช. ยอมรับว่า มาตรการ travel bubble หรือการจับคู่ประเทศท่องเที่ยวยังไม่ได้ข้อยุติ และต้องใช้เวลาพิจารณาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนที่จะเริ่มดำเนินการ ซึ่งกรณีของคนต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นการขออนุญาตให้นักธุรกิจเข้ามาในประเทศ แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น เช่น ต้องกักตัว 14 วัน หรือหากจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 14 วัน ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดอย่างเข้มข้นไม่น้อยกว่า 3-4 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเข้ามาได้ รวมถึงต้องพิจารณาด้วยว่านักธุรกิจที่จะเข้ามานั้นเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่