พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยเป็นการหารือร่วมกันเพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพสตรี สนับสนุนบทบาทสตรีในการร่วมสร้างประชาคมอาเซียน
นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุม กล่าวเปิดการประชุมว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างภูมิใจในความกล้าหาญของสตรีในการนำมาซึ่งเสถียรภาพและสันติภาพ ปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่สังคม และประเทศ
โดยในปีนี้ เวียดนามให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามพันธะกรณีในการเสริมสร้างบทบาทสตรีเพื่ออาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีข้อเสนอ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมสตรีในทุกกระบวนการ ทั้ง 3 เสาหลักของอาเซียน 2.ส่งเสริมสตรีในการรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมและส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมและการวิจัย
จากนั้นผู้นำอาเซียนต่างเสนอความเห็นต่อการเสริมสร้างบทบาทสตรีอย่างกว้างขวาง โดยนายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ไทยชื่นชมเวียดนามที่ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทสตรี และกำหนดให้ "การส่งเสริมศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล" เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมผู้นำอาเซียน สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ในเป้าหมายที่ 5 คือการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เสริมสร้างศักยภาพสตรีและเด็กหญิง เช่นเดียวกับนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพสตรีเป็นส่วนสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดทำแผนการพัฒนาสตรีภายใต้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ.2560-2564
ด้านเศรษฐกิจ ไทยส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของสตรีผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล (AWEN) และไทยได้ดำรงตำแหน่งประธาน AWEN สากล ในวาระปี ค.ศ.2018-2020 (พ.ศ.2561-2563) รวมทั้งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2563 ภายใต้หัวข้อ "พลังสตรีพลิกเศรษฐกิจ"
นอกจากนี้ ไทยได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังได้เตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนให้อาเซียนให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งเสริมศักยภาพสตรีนี้ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างยั่งยืน
พร้อมเสนอแนะ 2 ประการที่สำคัญในสภาวะปัจจุบัน คือ 1.ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อศักยภาพสตรีในการประกอบธุรกิจให้มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ และ 2.ส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านการสาธารณสุข อาทิ ไทยได้ส่งเสริมบทบาทสตรีในการเป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย