นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 5 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมในส่วนที่เหลือ ประกอบด้วย
1. โรงเรียน-สถาบันการศึกษา ให้สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ต้องลงทะเบียนยืนยันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดไว้ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุข จะจัดทำคู่มือหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เวลาเปิด-ปิดได้เองตามความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนร้านสะดวกซื้อเปิดได้ 24 ชม.
3. สถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงเบียร์ ลานเบียร์ ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 24.00 น.ทุกกรณี, ต้องมีระยะนั่ง/ยืน ห่างกัน 1 เมตร, จำกัดผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 4 ตารางเมตร/คน และห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น, ระยะห่างระหว่างโต๊ะ ต้องไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หรือมีฉากกั้นสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร, มีระบบระบายอากาศ และระบบหมุนเวียนอากาศที่ดี มีพื้นที่สูบบุหรี่เฉพาะบุคคล ที่สำคัญลูกค้าทุกคนต้องลงทะเบียนเข้า-ออก โดย App ไทยชนะ
4. ร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต แบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 15 ปี : จันทร์-ศุกร์ เข้าได้ 14.00-20.00 น. วันหยุด 10.00-20.00 น. ช่วงอายุ 15-18 ปี : จันทร์-ศุกร์ เข้าได้ 14.00-20.00 น. วันหยุด 10.00-22.00 น. และอายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้บริการได้ทุกวันตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา, จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ (เกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 4 ตารางเมตร/คน) มีการเว้นระยะนั่ง-ยืน-ทางเดิน ไม่ต่ำกว่า 1เมตร และจำกัดเวลาให้บริการ 2 ชม./รอบ เพื่อพักทำความสะอาด 15 นาที
5. อาบ อบ นวด และโรงน้ำชา ต้องมีใบอนุญาตสถานบริการถูกกฎหมาย, ผู้ใช้บริการทุกคนต้องลงทะเบียนเข้า-ออกด้วย App ไทยชนะ หรือจดบันทึกรายงานแทนได้, ต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า หรือ Face shield ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ, ทำความสะอาดห้อง, อ่างอาบน้ำ, ห้องสุขา และพื้นผิวสัมผัสร่วมทั้งก่อนและหลังบริการแต่ละครั้ง, ตรวจหาเชื้อโควิดในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ พร้อมการเฝ้าระวังโรคอื่นๆ ด้วย รวมทั้งอาจพิจารณาให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้าน
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ยังได้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีมติเห็นชอบให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.63
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังได้พิจารณาตามข้อเสนอจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไทย ในบุคคล 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.คู่สมรสและบุตรของผู้มีใบอนุญาตทำงาน หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร 2.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 3.คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย 4.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย และผู้ติดตาม 5.นักเรียน นักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว 6.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับประเทศเป้าหมาย ทั้งนี้ คนต่างชาติในกลุ่มเหล่านี้จะต้องผ่านการตรวจโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับความตกลงพิเศษ (Special Arrangement) ซึ่งทำกับประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, จีน และฮ่องกง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ซึ่งจำนวนโควตาที่กำหนด ต้องสอดคล้องกับจำนวน Alternative State Quarantine (ASQ) และการเจรจากับประเทศที่ทำความตกลงพิเศษ (ขั้นต้นอาจกำหนดจำนวนรวม 200 คน/วัน) โดยประเทศเป้าหมายที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ามาในไทยตามความตกลงพิเศษดังกล่าวนี้ มีหลักเกณฑ์การพิจารณาจาก 1.มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย 2.ควบคุมการระบาดได้ดีใกล้เคียงกับไทย 3.มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และ 4.มีความพร้อมและสนใจทำความตกลง
ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มผู้ที่จะเข้ามาตามความตกลงพิเศษไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก Normal Track เป็นการเข้ามาทำงานและพำนักอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน, มีการกักตัวใน ASQ ที่รัฐกำหนดให้นาน 14 วัน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง กลุ่มสอง Fast Track เป็นนักธุรกิจ/ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย เดินทางมาระยะสั้น (ต่ำกว่า 14 วัน) ร่นระยะเวลาการกักตัว เดินทางมาจากประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษ และมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมากกว่าการเข้าประเทสแบบ Normal Track เช่น ตรวจ Double negative และติดตั้ง App และกำหนดการเดินทางที่ชัดเจน เป็นต้น
ส่วนหลักเกณฑ์ในการรับรองการเดินทางสำหรับแขกของรัฐบาล มีดังนี้ 1.เป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน 2.เป็นการเดินทางระยะสั้น 3.มีการตรวจรับรองการปลอดเชื้อดควิด-19 ที่ประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย (Double Negative) 4. ให้หน่วยงานราชการที่เป็นเจ้าภาพเชิญแขกระดับสูง พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ประจำคณะในลักษณะติดตาม (Liaison Officer) 5.มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงติดตามประจำคณะด้วย 6.จำกัดการเดินทางเฉพาะกำหนดการที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้าเท่านั้น และห้ามคณะเดินทางไปในที่สาธารณะ และห้ามใช้ระบบขนส่งมวลชน
ด้านกระทรวงมหาดไทย มีข้อเสนอของจังหวัดขอเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มเติมอีก 9 จุดทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1.จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย จ.หนองคาย 2.จุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อ.ปากชม จ.เลย 3.การผ่อนปรนเปิดช่องทาง-ท่าข้ามธรรมชาติ ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 4.จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 5.จุดผ่อนปรนการค้าบ้านแจมป๋อง อ.เวียนแก่น จ.เชียงราย 6.จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี (กรณีนำเข้ามันสำปะหลัง) 7.จุดผ่านแดนถาวรปาดังเบซาร์ และจุดผ่านแดนถาวรด่านบ้านประกอบ จ.สงขลา 8.จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ 9.จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
ขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้เสนอให้มีการยกเลิกการเว้นระยะที่นั่งในรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า โดยยึดความหนาแน่นของผู้ใช้บริการสูงสุดไม่เกิน 70% และยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ
นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศนานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 30 วัน แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีส่วนที่สำคัญใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้อำนาจในเชิงป้องกันโรคได้มากกว่าการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งในเรื่องการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง, การจัดทำระบบติดตามตัว-กักตัว-เฝ้าระวัง, การใช้คำสั่งเปิด-ปิดกิจการ/กิจกรรม 2.มีการบูรณาการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และความรวดเร็ว
สำหรับคำสั่งห้ามเที่ยวบินจากต่างประเทศที่มีผลถึง 30 มิ.ย.63 นั้น นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ในที่ประชุม ศบค.ไม่มีการเสนอมติให้หยุด หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินการใดๆ ในเรื่องของเที่ยวบินจากต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่ายังต้องทำแบบเดิมต่อไป
"ถ้าจะเปิดรับต่างชาติ ต้องเข้ามาตรการ SQ แบบเดิม หรือถ้ามาระยะเวลาสั้นๆ ก็ต้องขออนุญาตใหม่ แต่ไม่ใช่มาแบบเสรี ต้องผ่านเที่ยวบินที่เราจัดให้เฉพาะคนไทยเข้ามา ซึ่งสามารถเติมได้เฉพาะใน 5 ประเทศเท่านั้นที่จะเข้ามาได้ ยืนยันได้ว่าคนไทยในประเทศต้องได้รับการดูแล และคนต่างประเทศที่เข้ามา ก็ต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจง" โฆษก ศบค.ระบุ