นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงได้ปรับระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการจัดการเรียนการสอนทางไกล (On Air)
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสนับสนุนกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพื่อการศึกษา 1,158,931 กล่อง จัดสรรให้สถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1,030,798 กล่อง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 127,867กล่อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 266 กล่อง เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการสอนทางไกล ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนการศึกษา 1 ก.ค.นี้
ส่วนแนวทางการแก้ไขการสรุปผลการเรียนและอนุมัติการจบการศึกษาปี 2562 หลังวันที่ 15 พ.ค.63 นั้น ช่วงระหว่างวันที่ 16 พ.ค.-30 มิ.ย.63 ให้ถือเป็นการอนุมัติให้จบการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โดยไม่ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 โดยให้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยด้วย
กรณีนักเรียนเรียนเรียนจากที่บ้านให้โรงเรียนจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง/นักเรียน สำหรับค่าอาหาร รวมทั้งให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้ง 12 แห่ง สามารถกำหนดรูปแบบวิธีการและจ่ายค่าอาหาร ค่าอาหารเสริมสำหรับนักเรียนที่เรียนผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป รวมทั้งให้อุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสำหรับการเรียนการสอนแบบผสมผสาน เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอนออนไลน์ ค่าเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับนักเรียน
ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งการเรียนในชั้นเรียน (On-Site) การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลรวมทั้งการสอนทางไกล (On Air) ตามความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียน