ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การหลอกลวงข้อมูล (Phishing) ได้มีการปรับเปลี่ยนกลวิธีการหลอกขอข้อมูลของเหยื่อได้แยบยลและหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิมาในรูปแบบของอีเมล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค โดยกล่าวอ้างถึงมาตรการการรักษา ซึ่งผู้ได้รับอีเมลดังกล่าวควรรีบปฏิบัติตามขั้นตอนโดยด่วน หรือการสร้างเว็บไซต์หลอกขอข้อมูลจากผู้ใช้ โดยใช้สิ่งของมีค่า เช่น บัตรกำนัล สมาร์ทโฟน มาเป็นแรงจูงใจ เมื่อผู้ใช้งานคลิกลิงก์ ดาวน์โหลดไฟล์แนบ หรือกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ดังกล่าว จะเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีติดตั้งซอฟต์แวร์อันตรายลงบนเครื่อง รวมถึงนำข้อมูลส่วนตัวสำคัญ อาทิ ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรเครดิต ไปกระทำการปลอมแปลงและโจรกรรมทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ ได้
วิธีสังเกตอีเมลและเว็บไซต์ Phishing ให้เริ่มสังเกตชื่ออีเมล และชื่อเว็บไซต์ จะต้องเป็นชื่อผู้ส่งและชื่อเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ลิงก์ที่เชื่อมโยง ควรสอดคล้องทั้งเนื้อหาและ Domain Name รวมไปถึงเนื้อหาภายในอีเมล หากมีลักษณะเร่งให้ดำเนินการ, เร่งให้ส่งข้อมูลส่วนตัวทันที และขอให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่าน ให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอีเมลอันตรายไว้ก่อน
วิธีป้องกัน คือ ไม่คลิกลิงก์ ไม่เปิดไฟล์แนบ ไม่ส่งต่อ ไม่ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงต้องหมั่นอัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด โดยประชาชนสามารถตรวจสอบว่าเป็นเว็บไซต์หรือลิงก์ปลอมหรือไม่ โดยสังเกตที่การสะกด Domain Name ทั้งนี้ หากเป็นเว็บไซต์ที่ถูกต้องของ AIS จะต้องมี Domain Name หรือ Sub Domain ระบุ ais.co.th เท่านั้น หรือสอบถามที่ AIS Contact Center 1175 ตลอด 24 ชั่วโมง