นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรแก้วิกฤต Covid-19 ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ว่า ขณะนี้ เกษตกรในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำนา ซึ่งยอมรับว่าปีนี้มีปริมาณฝนตกเข้าเขื่อนน้อย จึงไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามชาวนามีความกังวลจากสภาวะฝนทิ้งช่วงมากว่า 2 เดือนนั้น ทำให้ไม่สามารถเริ่มปลูกข้าวได้ตามเดิมคือ 1 พ.ค. ซึ่งขณะนี้กลางเดือน ก.ค.แล้ว โดยกรมชลประทานชี้แจงว่าจะเหลือน้ำใช้อุปโภคบริโภค 30 วัน หากไม่มีฝนตกลงมา อีกทั้งกรมชลประทานขอความร่วมมือไม่เสี่ยงทำนา ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าต้นเดือน ส.ค. 63 จะมีฝนตก
นอกจากนี้ จังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่ทั้งหมด 3.3 ล้านไร่ เป็นเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 1.40 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทาน 1.6 ล้านไร่ มีโครงการชลประทานทั้งหมด 13 โครงการ ขณะนี้เกษตรกรปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 6 แสนไร่ จึงแก้ปัญหาเบื้องต้นให้เกษตรกร โดยกรมชลประทานจะระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ปล่อยลงมาในแม่น้ำท่าจีน ให้ชาวนาสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนขึ้นไปหล่อเลี้ยงนาที่ทำแล้วส่วนหนึ่ง พร้อมกันนี้ให้กรมบาดาลและกรมทรัพยากรน้ำเข้ามาเจาะบาดาลเพื่อช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้อนุมัติเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย โดยสนับสนุนการจัดการตลาดผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ โดยส่งเสริมอาชีพทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ มีตลาดรองรับ รวมกลุ่มวิสาหกิจอย่างน้อย 7 คน มีอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรีมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ 1. เลี้ยงโคขุน ขณะนี้มีตลาดกลางรับซื้อผลผลิตโคขุนในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรีแล้ว โดยทำหน้าที่ผลิตอาหาร หรือ Feed Center สำหรับผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา 50 กลุ่ม จาก 180 กลุ่มที่สนใจ และ2. เลี้ยงไก่พื้นเมือง ระยะสั้น 90 วัน ก็ได้รับผลผลิตที่พึงพอใจ และเหมาะกับชาวสุพรรณที่ชื่นชอบในการเลี้ยงไก่ชนอยู่แล้วนอกจากนี้ยังส่งเสริมอาชีพทางเลือกใหม่ คือการปลูกขิงโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ คือ การเลี้ยงในโรงเรือน ใช้ระบบท่อหยดน้ำและปลูกด้วยการใช้ขุยมะพร้าวซึ่งให้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งทุกอย่างมีตลาดรองรับ มีการประกันราคา และประกันขีวิตสัตว์สัตว์กรณีเสียหายอีกด้วย
"ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วโลก ทำให้อาจเกิดการขาดแคลนอาหาร ดังนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและใช้วิกฤตตรงนี้เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย" นายประภัตร กล่าว
ทั้งนี้ ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการของคนในประเทศ นักท่องเที่ยว และต่างประเทศ โดยความต้องการโคเนื้อของต่างประเทศมีมากถึง 500,000 - 1,000,000 ตัวต่อปี ส่วนไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชาต้องการไม่น้อยกว่า 50,000 ตัวต่อวัน และแพะมีความต้องการ 200,000 - 300,000 ตัวต่อปี รัฐบาลจึงหวังให้อาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว ทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านการตลาด