พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแผนงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้แก่ โครงการจัดหาน้ำต้นทุนและแผนปฏิบัติการ ปี 2563-2566 จังหวัดภูเก็ต จากที่คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำของจังหวัดภูเก็ตจะสูงขึ้นจากปัจจุบัน 80 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี เป็น 112 ล้าน ลบ.ม./ปี ในปี 2575 เนื่องจากการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว และชุมชนเมือง ส่งผลให้แนวโน้มผู้ใช้น้ำสูงขึ้นประมาณปีละ 12% รวมถึงมีการเพิ่มพื้นที่ให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ประกอบกับปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง จึงต้องเร่งจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มให้ได้ไม่ต่ำกว่า 64 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ที่ประชุมจึงเห็นชอบในหลักการแผนระยะสั้น 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ ขึ้นเป็น 8.70 ล้าน ลบ.ม.หรือเพิ่มขึ้น 1.5 ล้าน ลบ.ม. 2) โครงการบำบัดน้ำเสียมาผลิตน้ำประปา เพิ่มปริมาณน้ำในเขตเทศบาลนครภูเก็ต 0.584 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และ 3) โครงการระบบสูบผันน้ำ บ้านโคกโตนด-อ่างฯ บางเหนียวดำ จะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นอีก 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และให้เสนอทั้ง 3 โครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
ส่วนแผนระยะสั้นที่เหลืออีก 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนาระบบควบคุมบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ที่ประชุมเห็นควรให้จังหวัดภูเก็ตทบทวนพิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์น้ำจังหวัดภูเก็ตให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของจังหวัด และให้เร่งรัดการดำเนินงานแผนงานระยะกลางที่ได้เสนอผ่าน กนช. แล้ว ได้แก่ โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา-ภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำใช้ผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น 49 ล้าน ลบ.ม./ปีโดยเร็ว
สำหรับแผนงานระยะกลาง และระยะยาว มอบหมายให้ สทนช. และจังหวัดภูเก็ตร่วมกันศึกษาแผนหลัก และแผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำให้ครอบคลุมตามแนวทางการพัฒนาแผนแม่บทกาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้านต่อไป
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า อีกปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือปัญหาการจัดการน้ำเสีย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำโดยกรมควบคุมมลพิษ และให้เสนอต่อ กนช.พิจารณา เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำด้านที่ 4 ด้วยกลยุทธ์ที่ 1 การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทาง และกลยุทธ์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการจัดการน้ำเสียจากทุกแหล่งกำเนิด
เพราะปัจจุบันมีแหล่งน้ำเพียง 3 แหล่งน้ำ หรือคิดเป็น 5% ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำพุมดวง และแม่น้ำตรัง เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ตามเป้าหมายที่กำหนด ส่วนแหล่งน้ำหลัก 48 สายยังขาดกฎหมายที่จะควบคุมให้มีการรวบรวมน้ำเสียจากทุกกิจกรรมในอาคารบ้านเรือนไปทำการบำบัด รวมถึงไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดการน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานประกอบการพิจารณาการอนุญาต/ต่ออายุใบอนุญาต และที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้วย