นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ คือ สิงคโปร์ 2 ราย และซูดาน 1 ราย ส่วนในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมา
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,249 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 312 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,096 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 95 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ส่วนรายละเอียดของผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 3 รายใน State Quarantine พบว่ามาจากประเทศสิงคโปร์ 2 ราย รายแรกเป็นชายไทย อายุ 60 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 6 ก.ค. เข้าพักใน State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อวันที่ 17 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ส่วนรายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 43 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 17 ก.ค. โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI และตรวจหาเชื้อวันที่ 17 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ จึงส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล จ.สมุทรปราการ และรายสุดท้าย มาจากประเทศซูดาน เป็นชายไทย อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางมาถึงไทยวันที่ 18 ก.ค. โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI คือ มีอาการไอ และตรวจหาเชื้อวันที่ 18 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ และส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล จ.สมุทรปราการ
สำหรับความคืบหน้าการตรวจตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 ในกรณีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมจากประชาชนใน จ.ระยอง และ จ.กรุงเทพฯ พบว่า รายงานยอดรวมล่าสุด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-18 ก.ค.63 มีการตรวจหาเชื้อแล้วทั้งสิ้น 6,379 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ประชาชนใน จ.ระยอง 6,015 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อ 5,201 ราย อยู่ระหว่างรอผล 814 ราย ส่วนประชาชนใน กทม. 364 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อทั้งหมด
"สถานการณ์ในจังหวัดระยองถือว่ามีความปลอดภัย ใครที่มีวันหยุดพักผ่อนยาว ขอให้ไปจองโรงแรมที่พักได้เหมือนเดิม เพื่อที่ผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆ จะได้กลับมาเหมือนเดิม เพราะผลตรวจทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่าปลอดเชื้อโควิด" โฆษก ศบค.ระบุ
ส่วนกรณีการผ่อนคลายมาตรการในเฟส 6 นั้น นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชุดที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน ได้มีการพิจารณารายละเอียดในกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย แรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาในธุรกิจก่อสร้าง หรือธุรกิจส่งออกอาหาร, ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมจัดงานแสดงสินค้า, ชาวต่างชาติจากกองถ่ายทำภาพยนตร์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอีลิท เป็นต้น ซึ่งจะนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศบค.ได้พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า
"กลุ่มพวกนี้ จะเข้าไปสู่เฟส 6 ที่ได้มีการซักซ้อมและประชุมรายละเอียดกันอย่างรอบด้าน คณะกรรมการชุดเฉพาะกิจ และคณะจากกระทรวงสาธารณสุขได้เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ภายในสัปดาห์หน้า รอให้ผู้อำนวยการ ศบค.กำหนดวันที่แน่นอนก่อน" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
อย่างไรก็ดี จากที่มีข้อห่วงใยของหลายฝ่ายถึงการนำคนจากต่างประเทศเข้ามาแล้วพบว่ามีเชื้อโควิด-19 นั้น นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า ศบค.ยังคงให้น้ำหนักและความสำคัญกับชีวิตความปลอดภัยของคนไทยมากกว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการผ่อนคลายมาตรการให้แต่ละกิจการ/กิจกรรม ในแต่ละเฟสที่ผ่านมา ล้วนคำนึงถึงกรณีการแพร่ระบาดของโรคเป็นหลัก โดยได้นำข้อมูลด้านสาธารณสุขมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา ในขณะที่องค์ประกอบด้านเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นกัน แต่เป็นประเด็นรองลงมา เพราะเมื่อสามารถควบคุมโรคได้ดี ก็จะเกิดความมั่นใจขึ้นได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศแล้วว่าการให้เศรษฐกิจเป็นเรื่องนำ โดยไม่คำนึงถึงการควบคุมโรค จะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถไปต่อได้ เพราะการแพร่ระบาดของโรคในสุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจในที่สุด
พร้อมกันนี้ ยังปฏิเสธด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้เปิดให้มีการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศเพื่อมุ่งหวังจะสะกัดกั้นการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด
"เหตุที่เรายังนำคนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะเขาเหล่านี้มีความจำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ จึงต้องให้ต่างชาติเข้ามา ซึ่งไม่ใช่การนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาเติม แต่คนเหล่านี้เขาต้องกลับมาบ้าน หรือมาประกอบธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ...ข้อต่อที่หลวม จะไม่มีอีกแล้ว ต่างชาติที่เข้ามาไทย จะต้องถูกกักตัวอยู่ใน State Quarantine ทั้งสิ้น" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการพิจารณาขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ในสัปดาห์หน้า ศบค.ชุดเล็กจะได้มีการนำข้อมูลรอบด้านจากทั้งด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงมาประเมินสถานการณ์ร่วมกันอย่างละเอียด ก่อนจะเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ตัดสินใจต่อไป