COVID-19สธ.-ส.อ.ท.ขับเคลื่อนโครงการ"สถานประกอบการ ต้านโควิด 19ฯ" มุ่งดูแลกลุ่มแรงงาน

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2020 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมควบคุมโรค และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมมือดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ "สถานประกอบการ ต้านโควิด 19 ในฐานวิถีชีวิตใหม่ : New Normal" เพื่อให้เกิดแนวทางและรูปแบบในการดำเนินงานในการพัฒนาสถานประกอบการ ให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบต้านโควิด 19 ในฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งพนักงานสามารถทำงานได้อย่าง "ปลอดภัย และ ไร้โควิด"

นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กระจายเป็นวงกว้างทั่วโลกนั้น กรมควบคุมโรคได้เห็นความสำคัญของผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีการรวมกลุ่มกันทำงาน จึงร่วมกับส.อ.ท. ปรับแนวทางการทำงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้สถานประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้ ซึ่งหากไม่มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพแล้ว อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ในวงกว้างจนส่งผลกระทบในระดับประเทศได้

สำหรับแนวทางในการดูแลกลุ่มแรงงานให้ปลอดภัยต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เริ่มต้นจากการจำแนกการทำงานเป็นรายกิจกรรม เพื่อทำการประเมินโอกาสติดเชื้อโควิด และพัฒนาเป็นข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบการตามแนวคิด New Normal

โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คัดเลือกสถานประกอบการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่เพื่อรวบรวมข้อมูล สรุปวิเคราะห์ จัดทำแนวปฏิบัติในการลดการติดเชื้อสำหรับสถานประกอบการ และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลสถานประกอบการ และ ระยะที่ 2 คือ การขยายผลไปยังสถานประกอบการอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ขององค์กร สร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจ และการขับเคลื่อนงานในมิติความเชื่อมโยงในพื้นที่และสังคมโดยรวม นำไปสู่การขยายผลไปสู่สถานประกอบการอื่นๆ ในการพัฒนาดูแลสุขภาพของประชากรวัยทำงานในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิผล

ทั้งนี้ นับแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส.อ.ท.ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีการกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งกำหนดแนวทางการเยียวยาเพื่อเสนอต่อภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง

"สถานประกอบการต่างให้ความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการป้องกันที่ดีอยู่แล้ว ขอให้ภาครัฐออกมาตรการที่ชัดเจนและให้ความช่วยเหลือ เช่น ลดหย่อนภาษีให้กับสถานประกอบการณ์ที่ใช้งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันเพื่อโควิด-19 เป็นต้น" นายสุพันธุ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ