(เพิ่มเติม) COVID-19: ศบค.ชุดใหญ่เสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ,ไม่มีมาตรการห้ามชุมนุม

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2020 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในช่วงเช้าวันนี้ มีมติเห็นชอบตามสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือนถึงสิ้นเดือน ส.ค.63 โดยจะให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสัปดาห์หน้า เนื่องจากยังมีความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์ในช่วงที่ต่างประเทศยังมีการแพร่ระบาดรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยยังเปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นการขยายประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จากที่ได้มีการหารือกับหน่วยงานความมั่นคง ประชาคมข่าวกรอง และบุคลากรด้านสาธารณสุข มองว่ายังมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ควบคุมต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน เนื่องจากสถานการณ์โลกมีการติดเชื้อเกือบ 2 แสนคนต่อวัน ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและอยู่รายล้อมประเทศไทย

ขณะที่ประเทศไทยมีความจำเป็นเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด ศบค.ชุดใหญ่ได้เห็นชอบการเปิดประเทศ โดยเฉพาะการรับแรงงานต่างด้าว การผ่อนคลายโปรแกรมท่องเที่ยว การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้า ถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย โดยมาตรการสำคัญของรัฐคือการกักตัว 14 วัน ถือเป็นมาตรการสำคัญ ซึ่งเครื่องมือเดียวที่จะทำได้คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

"ทั้งหมดเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข เครื่องมือแพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่า สิ่งที่เราอนุญาตหรือผ่อนคลายไปในเชิงธุรกิจ ในเชิงเศรษฐกิจจะถูกชั่งน้ำหนักโดยความปลอดภัยทางสาธารณสุข คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราจึงจำเป็นต้องประกาศขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น แต่ไม่ได้แปลว่าเรานิ่งนอนใจ โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพยายามปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ใกล้เคียง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสบายใจยิ่งขึ้น ในการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือนตลอดเดือนส.ค.นั้นจะไม่มีการใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาห้ามการชุมนุมต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว ส่วนการชุมนุมทางการเมืองต้องไปปฎิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกฎหมายปกติ

"ที่ผ่านมาเราใช้มาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างเบาที่สุดแล้ว ถึงวันนี้ไม่ได้มีการห้ามการออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) แล้ว แต่สิ่งที่จะไม่ห้ามต่อไปคือ จะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.มาห้ามการชุมนุม ...แต่ใช้เพื่อประโยชน์ทางสาธารณสุขจริงๆ"พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ