KULAP เล็งเปิดเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลบนบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ภายในปีนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2020 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพลากร ยอดชมญาณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาโตชิ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ คูแลป (KULAP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จากกระทรวงการคลัง ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 และได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือนมิ.ย.63 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมทางด้านระบบเพื่อรอการตรวจสอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.อีกครั้งหนึ่ง ก่อนเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มของ kulap.io คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ การให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ดังกล่าวถือเป็นการยกระดับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมาอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchange :DEX) ที่มีความแตกต่างจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจาก DEX เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง เป็นตลาดแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลรูปแบบใหม่ (Peer-to-peer) การแลกเปลี่ยนทุกธุรกรรมเกิดขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้เกิดความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ

"แพลตฟอร์มคูแลปมีความแตกต่างจากกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ตรงที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วไปจะมีการทำงานในรูปแบบรวมศูนย์ (Centralized Exchange) แต่แพลตฟอร์มของเราทำงานด้วยระบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchange) ธุรกรรมต่างๆ จะทำงานภายใต้ระบบบล็อกเชน โดยผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องฝากเงินสดเข้ามาในระบบเพื่อทำการซื้อขาย แพลตฟอร์มของเราจะทำการเชื่อมกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallet) ของผู้ใช้บริการเข้ากับระบบ โดยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้ จึงมั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของทุกท่านจะปลอดภัย เมื่อมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น" นายพลากร กล่าว

นอกเหนือจากการให้บริการที่แตกต่างจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น แพลตฟอร์มของคูแลป จะทำการค้นหาราคาที่ดีที่สุด (Best Price) ณ เวลานั้นๆ ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเทียบราคาสินทรัพย์ดิจิทัลจากเว็บไซต์อื่นๆ โดยการทำงานในลักษณะนี้ยังช่วยขจัดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีคนมาตั้งออเดอร์รับซื้อรับขาย ก็สามารถทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ทันที

นายพลากร กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์ต่างๆ มาอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลมากขึ้น ไม่จำกัดว่าจะเป็นแค่สกุลเงิน แต่รวมถึงสินทรัพย์ทุกประเภท เช่น ทองคำ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่หน่วยลงทุน เช่น หุ้น กองทุน หรือพันธบัตรต่างๆ

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ปัจจุบันมีด้วยกัน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (Coins TH), บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) และบริษัท ซาโตชิ จำกัด (Satoshi)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ