ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการรับรองสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) เพื่อรองรับโครงการ Medical & Wellness Program แล้ว 124 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 98 แห่ง และคลินิกเอกชนอีก 26 แห่ง โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ จีน เมียนมา กัมพูชา จำนวน 920 ราย และเมื่อรวมกับญาติผู้ป่วยแล้วจะมีจำนวนราว 2,000 ราย
"เป็นผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาตามปกติก่อนหน้านี้อยู่แล้ว แต่ขาดความต่อเนื่องไปเพราะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด" ทพ.อาคม กล่าว
โดยชาวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องนัดหมายล่วงหน้ากับสถานพยาบาล โดยเข้ารับการรักษารวมกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง คือ วันแรก วันที่ 3-5 และวันที่ 14 เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยและผู้ติดตามจะไม่มีการแพร่เชื้อโควิด-19
"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ความสำคัญเข้มงวดกับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะไม่ปล่อยให้เชื้อโควิด-19 หลุดรอดออกไปสู่คนไทยอย่างแน่นอน" ทพ.อาคม กล่าว
สำหรับบริการทางการแพทย์ตามโครงการ Medical & Wellness Program ไม่ใช่การเดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาโรคโควิด-19 ได้แก่ การรักษาเกี่ยวกับตา-หู-คอ-จมูก, การรักษาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ/กระดูก/ข้อ, การรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก, สูตินรีเวช, การศัลยกรรมแปลงเพศ, การศัลยกรรมความงาม, เวชศาสตร์ชะลอวัย, กายภาพบำบัด, การรักษาด้านทันตกรรม, การรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง/อายุรกรรม/ศัลยกรรม และตรวจสุขภาพ/FU/การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ด้าน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศและทำให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้น ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปจะมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมจากปัจจุบัน 98 แห่ง จาก 382 แห่ง