นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562-31 พฤษภาคม 2563 ภายใต้กรอบนโยบาย 5 P (Policy/Prevention/Prosecution/Protection/Partnership) เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายความร่วมมือและป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ซึ่งพบเรือประมงกระทำความผิดลดน้อยลง
โดยรายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 มีความก้าวหน้าใน 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านนโยบาย (Policy) มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทั้งระบบ
2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) จากการตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) พบการกระทำความผิด 9 ลำจาก 37,054 เที่ยว หรือเพียง 0.024% ขณะที่การตรวจเรือประมงกลางทะเล 508 ลำ พบการกระทำความผิด 2 ลำจาก (0.39%)
3.ด้านการป้องกัน (Prevention) การบริหารจัดการแรงงานในกิจการประมงจำนวน 160,950 คน อาทิ ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานบนเรือประมง จำนวน 92,233 คน รวมทั้งมีการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย ในรอบปีการประมง พ.ศ.2563-2564 จำนวน 10,202 ลำ นอกน่านน้ำไทย จำนวน 6 ลำ
4.ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) มีการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ 3 ราย เป็นต้น
5.ด้านการแสวงหาความร่วมมือ(Partnership) กับประเทศต่างๆ อาทิ โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรปและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการ ATLAS Project ร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังภายใต้กรอบ 5P ส่งผลให้สถานะไทยดีขึ้น โดยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2 ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ปี 2563 ต่อเนื่อง 3 ปีตั้งแต่ 2561-2563 รวมทั้งสหภาพยุโรปประกาศปลดสถานะใบเหลืองของประมงไทยในปี 2562