น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ในช่วง 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.63) วงเงิน 171.60 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สืบเนื่องจากผลหารือทวิภาคีกับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีข้อเสนอแนะจากสหภาพยุโรปว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถคงประสิทธิภาพการดำเนินการได้อย่างเข้มแข็งเหมือนช่วงก่อนการปลดใบเหลือง (ใบเหลืองคือการตักเตือนให้มีการปรับปรุงแก้ไข) และมีความเสี่ยงว่าหากประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับใบเหลืองครั้งที่ 2
โดยมีสาเหตุจาก 1.ประสิทธิภาพของระบบการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) และศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (Fisheries Monitoring Center : FMC) มีแนวโน้มลดต่ำลง 2.การบริหารจัดการกองเรือและทรัพยากรประมงที่ยังต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามที่ได้หารือ 3.ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง และ 4.การบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับมีเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบในการป้องการการทำลายสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) จากการทำประมง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการและมีแผนบริหารจัดการที่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2565
สำหรับในปีงบประมาณ 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) และองค์การสะพานปลาได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อการคงประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและมีงบประมาณบางส่วนจัดสรรคืนให้กับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา/ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยกรมประมงโอนงบประมาณดังกล่าวตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 จำนวน 113.16 ล้านบาท ทำให้กรมประมงไม่สามารถเจียดจ่ายงบประมาณประจำปีเพื่อใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้เป็นไปตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรป ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะได้รับใบเหลืองอีกเป็นครั้งที่ 2
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ กรมประมงได้จัดทำโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้แก่
1.การปรับปรุงการเก็บข้อมูล ทั้งจากการทำประมงพาณิชย์และพื้นบ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดชายทะเล และดำเนินการปรับปรุงวิธีการคำนวณค่าผลผลิตสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ให้ถูกต้องแม่นยำและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ทรัพยากรประมง
2.การตรวจสอบความถูกต้องและข้อเท็จจริงของการบริหารจัดการเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์
3.การตรวจสอบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย ทั้งก่อนออกทำการประมง ระหว่างทำการประมง และเมื่อกลับเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ
4.การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ประมงจะมาจากการทำประมงแบบไม่ถูกต้อง เพื่อตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะสินค้าสัตว์น้ำที่มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสูง
5.การดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
6.การจัดทำฐานข้อมูลคดีเพื่อบูรณาการการดำเนินการทางกฎหมาย และลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
7.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคประมง และการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย
8.การส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำ
"นายกฯ กำชับให้ดูแลไม่ให้เกิดปัญหาถูกขึ้นบัญชีธงเหลืองได้อีก โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน" น.ส.รัชดา ระบุ