น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านกำลังแรงงานในการฟื้นฟูประเทศ และเป็นการลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มาจากคนต่างด้าวรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. กลุ่มคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Passport: PP) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) และเอกสารเดินทาง (Travel Document: TD) จำนวน 649,046 คน ที่ได้รับอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานไปพลางก่อน ตั้งแต่ 1 ส.ค.63 ถึง 31 ต.ค.63 จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มี.ค.65
โดยนายจ้างต้องพาคนต่างด้าวไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค.63 และให้คนต่างด้าวใช้ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน และใบรับคำขอรับใบอนุญาตทำงานเป็นหลักฐานในการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ อาทิ การตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ภายใน 31 ม.ค.64 และการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและรับบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ณ สำนักงานเขตกรุงเทพฯ/ศูนย์ทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือที่กรมการปกครองกำหนดในท้องที่ที่แรงงานต่างด้าวทำงาน โดยให้ดำเนินการตั้งแต่ 1 ก.พ.64 ถึง 31 มี.ค.64
2. กลุ่มคนต่างด้าวที่มีบัตรผ่านแดน (Border Pass) จำนวน 92,572 คน จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มี.ค.65 ต้องไปขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางาน ในพื้นที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ภายใน 31 ต.ค.63 และดำเนินการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และซื้อประกันสุขภาพ (ซื้อประกันสุขภาพทุกคน ยกเว้นคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม) ภายใน 31 ม.ค.64
ทั้งนี้ การอนุญาตให้ทำงานจะเป็นครั้งละ 3 เดือน และหากคนต่างด้าวประสงค์ทำงานกับนายจ้างต่อไป ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ซึ่งครั้งแรกให้คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ทำงาน ตั้งแต่ 1 พ.ย.63 ถึง 31 ม.ค.64 แต่ต้องไม่เกิน 31 มี.ค.65
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. และ 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ....
"จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในระยะเวลาที่กำหนด และทำความเข้าใจกับร่างกฎกระทรวงเมื่อได้มีการประกาศใช้" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ
สำหรับร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้
1.ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงาน และการออกใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง มาตรา 63 มาตรา 63/1 มาตรา 63/2 และมาตรา 64
1.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวของผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานตามมาตรา 41 วรรคสี่ และนายจ้างซึ่งประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรเข้ามาทำงานในกิจการของตนในราชอาณาจักรตามมาตรา 60 วรรคสอง
1.3 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งการทำงาน การออกหนังสือรับแจ้งการทำงาน การแจ้งการขยายเวลาทำงาน และการออกหนังสือรับแจ้งการขยายเวลาทำงานตามมาตรา 61
1.4 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกใบอนุญาตทำงานและการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 62
1.5 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และการต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 67
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดให้คนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
2.1 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
2.2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันขอรับใบอนุญาตทำงาน
2.3 ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรค ดังนี้ (ก) โรคเรื้อนระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (ข) วัณโรคระยะติดต่อ (ค) โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (ง) โรคติดยาเสพติดให้โทษ (จ) โรคพิษสุราเรื้อรัง (ฉ) โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ และการทำงานของคนต่างด้าว ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ ยังคงใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดิม และยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีเดียวกับกฎกระทรวงที่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และพ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ