COVID-19สธ.เตือนอย่าเพิ่งชะล่าใจหลังไทยไม่พบผู้ป่วยโควิดใหม่ ยกเวียดนามกลับมาระบาดใหม่เป็นบทเรียน

ข่าวทั่วไป Monday August 10, 2020 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้วันนี้ไม่มีผู้ป่วยกลับจากต่างประเทศติดเชื้อ แต่ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงกลับมาระบาดใหม่ได้ เพราะในต่างประเทศยังมีผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุก 4-5 วันจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 ล้านรายต่อวัน อย่างไรก็ตามในประเทศยังพบผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเฉลี่ย 5-6 คน ดังนั้นประเทศไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการระลอกใหม่อยู่

โดยยกตัวอย่างกรณีประเทศเวียดนาม ที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเมืองดานัง ทั้งที่เวียดนามไม่มีผู้ป่วยมากว่า 90 วัน แต่พอประชาชนเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันตัวเองก็กลับมาเจอผู้ป่วยใหม่และเริ่มมีความตื่นตัวในการตรวจค้นหาเชื้อทำให้เจอผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยระลอกใหม่ค่อนข้างมาก

สมมติฐานที่ 2 คือการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ เพราะทางการเวียดนามค่อนข้างเข้มงวดในการดูแลคนเดินทางมาจากต่างประเทศเช่นเดียวกับไทย แต่ก็อาจจะมีช่องโหว่ในการกักกัน หรือ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนนั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คาดว่าภายใน 6 เดือนจากช่วงนี้เป็นต้นไป น่าจะมีวัคซีนได้รับการจดทะเบียน ผลิต และจัดหามาใช้ โดยปัจจุบันมีวัคซีนที่เข้าสู่การทดสอบไม่ว่าจะเป็นในระยะที่ยังไม่เริ่มทดสอบในมนุษย์และทดสอบในมนุษย์แล้วกว่า 180 ชนิด และเริ่มทดสอบในมนุษย์แล้ว 38 วัคซีน แบ่งเป็น ในระยะที่ 1 จำนวน 18 วัคซีน, ระยะที่ 2 จำนวน 12 วัคซีน, ระยะที่ 3 จำนวน 7 ชนิด และอนุมัติใช้ในวงจำกัด 1 ชนิด คือ วัคซีนของประเทศจีน

"ในปัจจุบันมีการตั้งเป้าหมายของระยะที่ 3 ไว้ว่าความสามารถป้องกันโรคอย่างน้อย 50% ใน 6 เดือน ถ้าสามารถป้องกันโรคได้ องค์การอาหารและยา ก็พร้อมที่จะจดทะเบียนให้วัคซีนเหล่านั้น...หวังว่าโอกาสที่จะได้ใช้วัคซีนตัวใดตัวหนึ่งใน 7 ตัว ภายใน 6 เดือนจากช่วงนี้เป็นต้นไป น่าจะมีวัคซีนได้รับการจดทะเบียน ผลิต และจัดหามาใช้ในประชากร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนการวิจัยและเตรียมความพร้อมจัดหาวัคซีนมาใช้"นพ.ธนรักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอวัคซีน สิ่งที่ควรทำคือการเตรียมพร้อมตัวเอง ทั้งระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับชุมชนให้มีความพร้อมรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยอย่าตั้งความหวังว่าประเทศไทยจะไม่เจอผู้ป่วยรายใหม่อีกแล้ว แต่ให้ตั้งความหวังว่าถ้าเจอผู้ป่วยรายใหม่จะไม่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทย ไม่ตื่นตระหนักจนเกินไป และไม่มีปฏิกริยาที่รุนแรงมากเกินไปในการจัดการกับปัญหา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ