นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปดูแลกรณีที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง บางประเภทที่กระทำผิดกฎหมายด้วยการสร้างปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เช่น การปล่อยกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลพิษ แอบทิ้งกากของเสีย และปัญหาเสียงดัง เป็นต้น ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่ต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน หากผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดก็ให้เร่งดำเนินการให้เกิดการแก้ไขให้ถูกต้องรวมถึงการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ประกอบการรายใดที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องส่งเสริมและสนับสนุนต่อไป
ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีประชาชนในกรุงเทพมหานครได้ร้องเรียนสถานประกอบการ มายังกรอ. จำนวน 90 ครั้ง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการร้องเรียน 120 ครั้ง หรือลดลง 25% แบ่งเป็น เรื่องของโรงงานปล่อยกลิ่นเหม็น 48 เรื่อง, เสียงดัง 52 เรื่อง, ฝุ่น 36 เรื่อง, ไอสารเคมี 27 เรื่อง, โรงงานเถื่อน 27 เรื่อง, ปล่อยน้ำเสีย 21 เรื่อง, สั่นสะเทือน 19 เรื่อง, ควัน 15 เรื่อง, กากของเสีย 17 เรื่อง, ทำงานกลางคืน 14 เรื่อง และขวางการจราจร 10 เรื่อง และอื่น ๆ
เบื้องต้น กรอ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรมตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่า โรงงานบางรายมีการกระทำความผิดจริงตามที่ประชาชนร้องเรียน จึงได้ดำเนินคดีกับโรงงานที่กระทำผิดแล้ว 3 กรณี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ดำเนินคดีไป 13 ราย รวมถึงมีคำสั่งให้หยุดหรือปิดโรงงานชั่วคราวแล้วอีก 1 ราย และสั่งให้มีการแก้ไข 7 ราย เป็นต้น
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ กรอ. จะเข้าไปดูแลปัญหาการร้องเรียน และดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัดจะเป็นอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัด ก็ได้มีการทำงานบูรณาการความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากเกิดปัญหาที่อุตสาหกรรมจังหวัดไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ในเชิงลึก เช่น การตรวจสอบเกี่ยวกับโรงงานปล่อยมลพิษและกากของเสียที่มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชิงปฏิบัติการเพื่อลงรายละเอียด ก็สามารถประสานขอความร่วมมือมายัง กรอ. ได้ เพื่อที่ทาง กรอ. จะส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการตรวจสอบเชิงลึก ลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการได้รับความถูกต้อง เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนต่อไป