(เพิ่มเติม) COVID-19: "หมอยง"ชี้ไทยยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง

ข่าวทั่วไป Friday August 21, 2020 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีตรวจพบปริมาณชิ้นส่วนไวรัส (ซากเชื้อ) ในหญิงไทย 2 รายที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศนั้นว่า ไม่น่าจะถือเป็นการระบาดระลอกสอง เพราะไม่ใช่การติดเชื้อภายในประเทศ เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อในต่างประเทศและหายป่วยก่อนเดินทางเข้ามา

"สถานการณ์ขณะนี้ไม่ถือเป็นการระบาดระลอกสอง เพราะไม่ใช่การติดเชื้อภายในประเทศ"

นพ.ยง กล่าวว่า การระบาดระลอก 2 หมายถึงมีการแพร่กระจายเชื้อภายในประเทศ และติดเชื้อมากกว่า 3 คนขึ้นไปและเป็นกลุ่มก้อน แต่หากมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพียง 1 ราย จะไม่ถือว่าเป็นการระบาด เป็นเพียงการพบผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น

สำหรับประเด็นการกลายพันธุ์ เป็นเรื่องของวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมถึงเชื้อโควิด-19 ด้วย ซึ่งสายพันธุ์ไม่ได้บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค และไม่ได้บอกว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ได้ แต่มีประโยชน์ในทางระบาดวิทยาที่จะบอกถึงต้นตอถิ่นกำเนิดว่ามาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่

นพ.ยง กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดช่วงแรกเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมโรคที่ดีมาก 1 ใน 7 ของโลก ทำให้ไม่พบการติดเชื้อในประเทศมาต่อเนื่องเกือบ 90 วันแล้ว ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศยังมีการติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 4 วัน 1 ล้านคน ดังนั้นคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะมีผู้ป่วยราว 50 ล้านคน และเสียชีวิต 1.5 ล้านคน ขณะที่เชื้อโควิด-19 มีพัฒนาการต่อเนื่องไปตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม การควบคุมโรคโควิด-19 จึงเหมือนวางแผนวิ่งมาราธอนที่ต้องมีการผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรแต่เราสามารถควบคุมได้

"เราสร้างกำแพงล้อมรอบประเทศแล้ววิดน้ำออกจนแห้งหมดแล้ว แต่กำแพงบ้านเรากว้างไกล เราไม่รู้หรอกว่าน้ำจะรั่วเข้ามาเมื่อไหร่ แต่ถ้าเรามีมาตรการดีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้ก็เป็นเรื่องที่ดี" นพ.ยง กล่าว

นพ.ยง กล่าวถึงความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในขณะนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ราววันละ 100 ราย ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นผู้ป่วยหนักที่ต้องพักในห้องไอซียูราว 3-5 ราย นอกจากนี้ขอเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่หายแล้ว มาร่วมกันบริจาคพลาสมา ขณะนี้มีแล้ว 300 หน่วย รักษาได้ร่วม 300 คน เก็บได้นาน 1 ปี จะช่วยลดอัตราการตายได้หากให้ตั้งแต่ระยะแรก ส่วนการควบคุมและป้องกันโรคนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องมาจากความร่วมมือของทุกคนที่จะปฏิบัติตามสุขบัญญัติอย่างต่อเนื่อง

"อย่าไปตั้งการ์ดสูงเกินไปว่าต้องไม่มีการติดเชื้อเลย พอมีข่าวตรวจพบก็ส่งผลให้หุ้นตก การระบาดเกิดขึ้นได้แต่เราต้องสามารถควบคุมได้ ไม่ให้เกิดการเสียชีวิต" นพ.ยง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ