รมช.สาธารณสุข เผยสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้อาจส่งผลให้การแพร่ระบาดของโรคมาเลเรียในประเทศไทยที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.) พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 18,000 ราย และเสียชีวิตแล้ว 32 ราย
"สภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอาจทำให้โรคมาลาเรียมีการระบาดและรุนแรงขึ้น เนื่องจากไข่ยุงจะกลายเป็นตัวเร็วขึ้น...รอบ 7 เดือนปีนี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 18,000 ราย เสียชีวิต 32 ราย ในจำนวนนี้เป็นแรงงานพม่า 2,995 ราย เสียชีวิต 12 ราย" น.พ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข ระบุในเอกสารเผยแพร่
สำหรับพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียมีสภาพเป็นป่าเขาตามแนวชายแดน 30 จังหวัด โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า มีผู้ป่วยประมาณ 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยในปี 49 มีผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมด 30,338 ราย เสียชีวิต 113 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งหน่วยสู้รบกับเชื้อมาลาเรียในชุมชนหมู่บ้าน 30 จังหวัดชายแดน 800 แห่ง
ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าปีนี้การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะก็มีความรุนแรนกว่าปีก่อน โดยช่วง 7 เดือนเศษที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 3.2 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 49 ที่มีผู้ป่วย 2.4 หมื่นราย เสียชีวิต 29 ราย
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--