รัฐบาลยืนยันไม่ทิ้งชาวประมง พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องสมาคมฯ และหาทางออกร่วมกัน

ข่าวทั่วไป Sunday August 30, 2020 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข้อเรียกร้องของสมาคมประมงให้มีการแก้ไขกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพประมง สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้ออกกฏระเบียบเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal) การประมงที่ขาดการรายงาน (Unreported) และการประมงที่ขาดการควบคุม (Unreglulated) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า IUU นั้น

รัฐบาลขอชี้แจงให้พี่น้องชาวประมงทราบว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ปัญหาผลกระทบดังกล่าว มีการดำเนินการไปแล้วในหลายด้าน อาทิ การแก้ไขกฎระเบียบ การรับซื้อเรือที่ได้รับผลกระทบจากระเบียบใหม่ การเสริมสภาพคล่อง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และรายงานความก้าวหน้าแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง

"นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เรื่องการแก้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และเน้นย้ำให้การทำงานต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่เสี่ยงต่อการถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป อีกทั้งต้องควบคู่ไปกับการรับฟังเสียงชาวประมงด้วย" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

ที่ผ่านมา กรมประมงได้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เหมาะสม เพื่อผ่อนปรนและช่วยเหลือชาวประมงกว่า 12 เรื่อง อาทิ การแก้ไขรายการเครื่องมือทำการประมง การแก้ไขรายการพื้นที่ทำการประมง การออกหนังสือคนประจำเรือ 2 รอบเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคนแรงงาน ส่วนการพัฒนาปรับปรุงระบบติดตามเรือให้มีประสิทธิภาพ ลดความยุ่งยากในการแจ้งเข้า-แจ้งออกของเรือประมงที่อยู่ในร่องน้ำเดียวกันอยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตรา และประมงพาณิชย์ 15 มาตรา ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการปรับปรุงกฎหมายที่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

สำหรับการรับซื้อเรือประมงออกนอกระบบ การดำเนินการได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มระยะเร่งด่วน (เรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมง (เรือขาว-แดง)) มี 568 ลำ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ครบถ้วนแล้ว 252 ลำ และ อีก 53 ลำ จะจ่ายครบถ้วนในเดือนต.ค.นี้ คิดเป็นเงินเยียวยารวม 764.45 ล้านบาท ที่เหลือ 263 ลำ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ส่วนกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์นำออกนอกระบบจำนวน 2,505 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ในการนำออกนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำการประมงของเรือประมง ซึ่งรัฐบาลจะรับไปพิจารณาในลำดับต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง จะได้มีเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และจ้างแรงงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทางธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ เห็นว่ามีประเด็นใดที่ไม่คืบหน้าหรือยังคงเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟัง เพื่อหาทางออกร่วมกันในแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวประมงและภาคการประมงของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ