"พบว่ามีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มตันของการดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"นายวิชา กล่าว
คณะกรรมการฯ จึงเสนอให้การสอบสวนใหม่เริ่มนับหนึ่งให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุรา และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และแก้ไขโดยเร่งด่วนให้อายุความหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหลบหนีจนกว่าจะได้ตัวมาดำเนินคดีจึงจะนับอายุความ
พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลอื่นที่รวมขบวนการนี้ ได้แก่ พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับสำนวน, พนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ผู้บังคับบัญชาที่แทรกแซงการปฎิบัติหน้าที่, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่, ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่, ทนายความที่กระทำผิดกฎหมาย, พยานให้การเท็จ, ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย
คณะกรรมการ ระบุชื่อย่อของผู้เกี่ยวข้องในกรณีต่าง ๆ ของคดีดังกล่าว โดยเฉพาะระบุว่ามีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการถึง 14 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.56 จนถึงวันที่ 7 ต.ค.62 แต่ทั้ง 13 ครั้งแรกทางฝ่ายอัยการสั่งยุติการพิจารณาคำร้อง และมาสำเร็จในครั้งที่ 14 ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า การใช้อำนาจสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม และต่อมาการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น.ในฐานะรองอัยการสูงสุด เป็นการใข้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้ต้องรับโทษ เพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มและรับฟังเฉพาะ พล.อ.ท. จ. และนาย จ. ซึ่งเป็นพยานที่เคยถูกสอบไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ด และการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นก็ระบุแล้วว่าเป็นหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ
และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการมีความบกพร่อง เนื่องจากไม่พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของนาย น.ด้วยความรอบคอบ ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้มอบอำนาจ โดยไม่ได้มีการกำกับดูแลติดตามผลการปฏิบัติราชการในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นความบกพร่องที่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่การปฏิบัติราชการแผ่นดินและกระทบต่อความศรัทธาขององค์กร
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป กับเห็นสมควรดำเนินการให้คดีอาญาในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า คณะกรรมการฯ รายงานผลการตรวจสอบให้ทราบว่าคดีดังกล่าวดำเนินการมายาวนานถึง 8 ปี เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มีความซับซ้อน และมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึง 14 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีการทำเป็นขบวนการ จึงต้องตรวจสอบกันต่อไป และเรื่องนี้ยังต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบในรายละเอียด จึงยังไม่ขอเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเมื่อถึงเวลารายชื่อจะปรากฎออกมาเอง
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะไม่ไปก้าวล่วงใคร และไม่ก้าวล่วงอัยการ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และในส่วนของตำรวจนั้นตนเองจะสั่งการไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการ 5 ข้อ คือ 1.ยกคดีขึ้นดำเนินการใหม่ โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ 2.ดำเนินคดีและวินัยที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 3.บางเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่จะตรวจสอบพฤติการณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงจริยธรรม 4. สร้างความเข้าใจกับวิธีปฏิบัติในการมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชา ที่เมื่อมอบไปแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบอีกหลายเรื่อง
"กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถือเป็นหลักของประเทศชาติ ถ้าอยู่กันแบบไร้กฎหมายไม่ได้ บ้านเมืองจะกลายเป็นอณาธิปไตยทันที ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีกฏหมายมันอยู่ไม่ได้ หลายอย่างจะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ ความเชื่อมั่นต่างประเทศก็เสียไป เศรษฐกิจไม่มั่นคง การลงทุนก็ลดลง แล้วผมถามว่าเราจะได้อะไรจากชัยชนะบนซากปรักหักพัง ใครจะได้อะไร ผมถามหน่อยเถอะ"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว