นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชนที่มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าการดำเนินการมี 3 ล็อต ล็อตแรกยกเลิกไปแล้ว 18 แห่ง ล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง และล็อตที่ 3 อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 106 แห่ง โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้
"ขอย้ำว่าพื้นที่ที่มีปัญหาคือบางส่วนของ กทม.เท่านั้น คลินิกดีๆ ยังมี และสิทธิหลักประกันสุขภาพไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย และขณะนี้มีคลินิกเอกชนสมัครเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว 20 แห่ง ทั้งนี้การที่หน่วยบริการถูกยกเลิกสัญญาไปมากขนาดนี้ย่อมเกิดผลกระทบกับการให้บริการ สปสช.จึงได้ดำเนินการเชิญชวนคลินิกที่ดีๆ ให้เข้ามาร่วมให้บริการกับ สปสช. มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทั้งนี้อาจมีบางคลินิกหรือบางโรงพยาบาลที่ยังไม่เคยร่วมให้บริการกับ สปสช. และยังไม่มั่นใจในเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการ ขอเรียนว่า สปสช.จ่ายเงินค่าบริการให้แก่หน่วยบริการทุกเดือนผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะมีวิธีการตรวจสอบก่อนเบิกจ่ายตามกลไกปกติและจำเป็นต้องมีการตรวจสอบย้อนหลัง แต่ถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณ์อย่างถูกต้องไม่มีอะไรต้องกังวลเลย" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ แม้จำนวนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดขณะนี้มีประมาณ 8 แสน-1 ล้านคน แต่มีกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น มีนัดผ่าตัดล่วงหน้า ต้องรับเคมีบำบัด กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 30% เท่านั้น กลุ่มนี้ สปสช. ประสานผู้ป่วยเพื่อจัดหาหน่วยบริการมารองรับ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องก็ได้ประสานหาหน่วยบริการให้เช่นกัน
ขณะที่ประชากรกลุ่มใหญ่ๆ ประมาณ 70% เป็นประชากรที่ร่างกายยังแข็งแรงดี ไม่ได้ป่วย แต่ สปสช.จะเร่งจัดหาหน่วยบริการสำรองให้กรณีที่อาจเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา โดยคนกลุ่มนี้จะอยู่ในกลุ่ม "สิทธิว่าง" ซึ่งถือเป็น "สิทธิพิเศษ" สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนหรือหน่วยบริการอื่นๆ ที่ร่วมโครงการกับ สปสช.ได้ทุกแห่ง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยไปขอแฟ้มประวัติการรักษาจากคลินิกเดิมซึ่งถูกยกเลิกสัญญาและถูกเรียกเก็บเงิน 150-300 บาทนั้น สปสช.รับทราบปัญหานี้และได้ทำการเปิดฐานข้อมูลเพื่อให้แพทย์ในหน่วยบริการใหม่สามารถดึงข้อมูลประวัติการรักษาได้ภายใต้การลงนามยินยอมเปิดเผยข้อมูลของตัวผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน หากยาหมดสามารถถือซองยาไปขอรับยาที่หน่วยบริการใหม่ได้เลย หรือหากแพทย์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถดึงข้อมูลประวัติการรักษาจากฐานข้อมูล สปสช.ได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องกลับไปขอข้อมูลจากหน่วยบริการเดิมอีกเพียงแต่ต้องเซ็นยินยอมการเปิดเผยข้อมูลที่หน่วยบริการใหม่จะจัดเตรียมไว้ให้ท่านลงนาม
สปสช.ขอย้ำอีกครั้งว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. ขณะนี้ยังไม่ต้องลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใหม่ สปสช.จัดให้ท่านได้รับสิทธิพิเศษ สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับ สปสช.ได้ทุกแห่ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่า สปสช.จะประกาศให้ลงทะเบียนใหม่อีก