พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 ภายใต้หัวข้อหลัก "อนาคตที่เราอยากเห็น องค์การสหประชาชาติที่เราต้องการ: ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านพหุภาคี – เผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 ผ่านแผนงานความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ" ทางระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปีนี้ โลกต้องประสบกับวิกฤติด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ดังนั้นทุกประเทศต้องเชื่อมั่นในเรื่องของความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมส่งกำลังใจไปยังทุกประเทศทั่วโลกให้ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 ทั้งนี้รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและตั้งใจยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ โดยจัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19" โดยดำเนินมาตรการตามหลักของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005 และแนวทางขององค์การอนามัยโลก รัฐบาลสนับสนุนแผนพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 โดยเห็นว่าวัคซีนและยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ควรต้องเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลกที่ทุกประเทศได้รับสิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสหประชาชาติจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้
นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาทางเศรษฐกิจ โดยจัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ" เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน ไทยได้ดำเนินนโยบาย "หยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย" พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "Bio-Circular-Green Economy" หรือ "BCG" โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีขอบคุณองค์การอนามัยโลกที่ให้การยอมรับว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถรับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นประเทศต้นแบบก็คือ การมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความเข้มแข็งผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือกับนานาประเทศ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมเลขาธิการสหประชาชาติที่สนับสนุนให้รัฐสมาชิกตระหนักถึงความร่วมมือเพื่อให้ทุกประเทศสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทของความท้าทายใหม่ๆ ไทยยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ และเคารพหลักการพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ ตลอดจนสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน
ในด้านสันติภาพและความมั่นคง สหประชาชาติและประชาคมโลกประสบความสำเร็จในการพยายามระงับความขัดแย้งโดยสันติวิธี นอกจากไทยจะให้ความสำคัญกับการลดอาวุธ ไทยยังส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทั้งชายและหญิง เข้าร่วมภารกิจเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติในภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2501 และยังคงบทบาทนี้ไว้ท่ามกลางวิกฤติในปัจจุบัน
ในด้านการพัฒนา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายล่าช้า ดังนั้นเราจะต้องทำงานหนักและส่งเสริมความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งมุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ซึ่งไทยจะใช้เวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ แบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในด้านสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดหลักการและพันธกรณีเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และการให้ความสำคัญต่อกลุ่มเปราะบาง สำหรับไทยได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นฉบับที่ 4 และนำมาปฏิบัติแล้ว
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนวาระต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ทั้งในด้านสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา การจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพราะระบบพหุภาคีเป็นหนทางที่จะนำพาพวกเราให้หลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ร่วมกัน เพื่อสร้างอนาคตที่มีสันติสุข และเพื่อโลกที่น่าอยู่สำหรับพวกเราและชนรุ่นหลังต่อไป