พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2563 ว่า การประชุม กนช. ในวันนี้ เพื่อรับทราบผลการบูรณาการหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ การเตรียมการรองรับฤดูฝน รวมทั้งการพิจารณากรอบแผนงาน/โครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมของหน่วยงานที่จะเสนอขอตั้งงบประมาณในปี 2565 โดยมีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง ของกรมชลประทาน 2.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย ของกรมชลประทาน และ 3.โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จ.นครราชสีมา ของเทศบาลนครนครราชสีมา
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดขอบเขต บทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ หลักเกณฑ์การมอบหมายคณะกรรมการลุ่มน้ำปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ให้เป็นพื้นที่ชะลอและรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ในฤดูแล้ง โดยเร่งดำเนินการใน 3 แห่งนำร่อง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร หนองหาร จังหวัดสกลนคร และคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภายในแผนพัฒนารองรับเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สามารถกักเก็บน้ำได้ 40 ล้าน ลบ.ม. เมื่อแล้วเสร็จ สามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ 30,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภคและการเกษตรในเขต อ.เขาชะเมา ช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในเขต อ.แกลง และเป็นแหล่งน้ำสำรองสนับสนุนพื้นที่ EEC โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 65-67 งบประมาณทั้งสิ้น 3,551 ล้านบาท
ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย เมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำได้ 32 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ 17,200 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของราษฎรได้ 4,775 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี ตั้งแต่ปี 65–68 งบประมาณทั้งสิ้น 1,325 ล้านบาท
โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จ.นครราชสีมา เป็นโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบประปาทดแทนระบบเดิมที่เสื่อมสภาพ เพื่อลดการสูญเสียในระบบท่อส่งน้ำและรองรับการขยายตัวของชุมเมืองพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมาและพื้นที่ข้างเคียง จำนวน 7 ตำบล เมื่อแล้วเสร็จ จะทำให้มีปริมาณน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาเพิ่มจากเดิม 50,000 ลบ.ม./วัน พื้นที่รับประโยชน์ 11 ตำบล 229,351 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 76.70 ตารางกิโลเมตร งบประมาณทั้งสิ้น 1,047 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งกนช.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเปิดโครงการดังกล่าวต่อไป
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนช.ยังได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในช่วงเดือน พ.ค. - 21 ก.ย.63 ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ ทำให้มีฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น จากพายุซินลากู พายุฮีโกส อิทธิพลจากร่องมรสุม และล่าสุดพายุโนอึล รวมแล้วเกือบ 5,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอ่างขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 58 ที่มีน้ำในอ่างฯน้อยที่สุด และยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินปริมาณน้ำต้นทุนก่อนสิ้นฤดูฝนพร้อมเร่งทำแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 63/64 ทั้งประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ ก่อนให้หน่วยงานปฏิบัตินำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการช่วยเหลือหากเสี่ยงได้รับผลกระทบ รวมถึงให้ข้อมูลไปถึงภาคประชาชนล่วงหน้าในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งด้วย
"ปัจจุบันแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก มีปริมาณน้ำรวมคิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณการกักเก็บโดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางถึง 95 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% แบ่งเป็น อ่างฯขนาดใหญ่ 11 แห่ง และอ่างฯขนาดกลาง 84 แห่ง ซึ่งเบื้องต้น สทนช.ได้ประสานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินน้ำต้นทุนในทุกแหล่งน้ำ ความต้องการน้ำในฤดูแล้ง ปี 63/64 ของทุกลุ่มน้ำเพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนการจัดสรรน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่พบว่าหากจะต้องสนับสนุนน้ำในการเพาะปลูกกรณีฝนทิ้งช่วงต้องมีปริมาณน้ำ 9,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำใช้การรวมของ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ช่วงฤดูฝนอีก ประมาณ 1 เดือนที่เหลือนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งเก็บกักน้ำเพิ่ม และบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้นต่อเนื่องและเป็นไปตามแผน" นายสมเกียรติ กล่าว