พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ได้เห็นชอบนโยบายการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ซึ่งมีโอกาสทั้งได้วัคซีนหรือไม่ได้วัคซีนดังกล่าว แต่เพื่อให้การจัดหาวัคซีนมีความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีน จึงมีการยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ตามมาตรา 18 (4) แห่งพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
โดยมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการทำข้อตกลงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของ COVAX facility และการทำความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีน ที่กำลังทำการทดสอบในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับ COVAX facility คือ ต้องลงนามทำสัญญาสำหรับการร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีน เพื่อจัดหาวัคซีน และมีการจ่ายเงินในการร่วมพัฒนาล่วงหน้าก่อนที่จะมีวัคซีน
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนไทย ในโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ และเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรจากงบกลางปี 2563 โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 365 ล้านบาท 2.การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 600 ล้านบาท และ 3.การเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 35 ล้านบาท