น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขอบเขตเมืองเก่าและแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด เพื่อป้องกันการทำลายหลักฐานที่สำคัญและอนุรักษ์เมืองเก่าไว้เป็นมรดกของชนรุ่นหลัง รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยที่ผ่านมา ครม. เคยมีมติเห็นชอบขอบเขตเมืองเก่าและแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าไปแล้ว รวม 32 เมือง ซึ่งล่าสุด คือ เมืองเก่าพิษณุโลก
สำหรับขอบเขตเมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด จัดเป็นเมืองเก่าในกลุ่มที่ 2 คือเมืองที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตและมีหลักฐานทางศิลปกรรมรองจากเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 3.01 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง-คูเมือง เป็นโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยแบ่งเป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า 5 พื้นที่ (Zoning) ดังนี้
พื้นที่ที่ 1 บริเวณใจกลางเมืองร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองเก่าร้อยเอ็ดประกอบด้วย วัดบึงพระลานชัย สระชัยมงคล บึงพลาญชัย ศาลหลักเมือง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และอนุสาวรีย์พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
พื้นที่ที่ 2 บริเวณวัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดราษฎร์ศิริ และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านตะวันออก รวมถึงแนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
พื้นที่ที่ 3 บริเวณวัดสระทอง วัดเหนือ วัดคุ้มวนาราม และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านตะวันตก รวมถึงแนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
พื้นที่ที่ 4 บริเวณวัดสระแก้วและชุมชนโดยรอบวัด ย่านชุมชนด้านตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงแนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้
พื้นที่ที่ 5 บริเวณย่านสถานที่ราชการ ประกอบด้วย แนวกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อาคารสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาและย่านชุมชนโดยรอบ
ส่วนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา สรุปได้ดังนี้ 1.แนวทางทั่วไป เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมวิถีชีวิตท้องถิ่นและคุณภาพชีวิต การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ ระบบจราจรและสิ่งแวดล้อม และการดูแลบำรุงรักษาอาคาร
2.แนวทางสำหรับเขตพื้นที่ เช่น (1) การใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดให้ใช้เพื่อหัตถกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สาธารณูปโภค นันทนาการ และการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น (2) อาคารและสภาพแวดล้อม กำหนดความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) ขนาด ลักษณะ และรูปแบบของอาคารให้สอดคล้องกลมกลืนหรือไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่ (3) ระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการใช้ยานพาหนะขนาดเบา เช่น รถจักรยาน รถลากจูง เพื่อลดมลภาวะ ลดปริมาณการจราจร โดยห้ามรถบรรทุกหนักและขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ (4) การพัฒนาภูมิทัศน์ สร้างเส้นทางต่อเนื่องระหว่างเมืองเก่า โบราณสถาน และพื้นที่เปิดโล่งในเมือง และ (5) การบริหารจัดการ โดยการออกระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับเขตเมืองเก่า เป็นต้น
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมครม.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการมาตรการจูงใจหรือการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการทางด้านภาษี มาตรการการยกเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการ มาตรการการให้สิทธิพิเศษในการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในบางบริเวณหรือพื้นที่อื่น เป็นต้น เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม