พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจประสิทธิภาพการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9) ว่า หลังจากมีรายงานว่าจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 7-9 ต.ค. 63 ซึ่งขณะนี้พายุกำลังเข้าสู่กรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมโดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รวมถึงจัดเจ้าที่ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับอาคารรับน้ำพระราม 9 มีประสิทธิภาพรองรับน้ำครอบคลุมพื้นที่ 6 สำนักงานเขต มีตะแกรงดักขยะเพื่อป้องกันการกีดขวางทางระบายน้ำก่อนที่น้ำจะไหลไปรวมกันที่อุโมงค์รับน้ำพระโขนง ซึ่งที่อุโมงค์รับน้ำพระโขนงมีตะแกรงดักขยะก่อนน้ำไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ในส่วนของท่อระบายน้ำนั้น เดิมท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีขนาดเพียง 60 เซนติเมตร ปัจจุบันได้มีการปรับแก้ให้ท่อระบายน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นในบางพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถทำได้ครบทั่วทั้งกรุงเทพฯ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขร่วมกันด้วย แต่ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กรุงเทพมหานครจะพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อรับมือกับปริมาณฝนที่ตกลงมา โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำกทม. เป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายน้ำ เพื่อเป็นเส้นทางลัดลำเลียงน้ำในคลองไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 ? 5 เมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร ซึ่งเป็นอุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 เมตร ยาว 1.88 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร และยังมีแผนที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมช่วงคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
2. อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.60 เมตร ยาว 5.98 กิโลเมตร ช่วยเร่งระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร
3.อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9) เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 5.11 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และกำลังขอจัดสรรงบประมาณเพื่อขยายโครงการต่อเนื่อง
4.อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย ขนาดเส้นผ่านศูนย์ 5 เมตร ความยาว 6.4 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง ได้แก่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ช่วยเร่งระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้โครงการคืบหน้าแล้วกว่า 66.5% ทั้งนี้ กทม. ยังมีแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ อีก 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ จากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2566 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567 3.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการครบทุกแห่ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ไม่ต้องผ่านระบบคลองธรรมชาติซึ่งจะสามารถเร่งระบายน้ำได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายสำคัญให้มีระดับต่ำได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองอีกด้วย
จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเฟรนชิพ ซ.สุคนธสวัสดิ์ 25 เขตลาดพร้าว เพื่อติดตามงานก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล. พร้อมประตูระบายน้ำเพื่อเป็นแก้มลิงหมู่บ้านเฟรนชิพ ปัจจุบันเนื้องานก่อสร้างหลัก อาทิ ประตูระบายน้ำ พร้อมเครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ควบคุมลำรางออหลาว ตอนคลองเสือใหญ่ และเขื่อนค.ส.ล. ความยาว 1,440 เมตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดราวเหล็กตกความยาว 1,400 เมตร อีกเพียงเล็กน้อย ประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวมอยู่ที่ 4 ลบ.ม. ต่อวินาที
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำเปิดทดลองเดินระบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนในระยะนี้ เนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านเฟรนชิพ และชุมชนใกล้เคียงมักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นประจำ เมื่อสามารถเปิดใช้งานระบบประตูระบายน้ำแห่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง ลดความเดือดร้อนของชุมชนบริเวณโดยรอบทั้งหมดได้