นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวทางในการลดจำนวนวันกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศว่า การจะลดจำนวนวันการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้น้อยลงกว่าปัจจุบันที่วางมาตรฐานไว้ 14 วันว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มดำเนินการก่อนกับผู้เดินทางที่มาจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำมากที่สุดก่อน แต่อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า หากจะมีการปรับลดเวลาการกักตัวจริง ก็จะต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการอย่างมีระบบ โดยต้องมีการออกแบบระบบการกักตัวในทั้งระบบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นใจมากที่สุด
"ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำกับกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ ก่อน แต่ถ้าเราจะทำอย่างนั้นจริง ต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าครบระยะกักตัวแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ แต่เราจะต้องออกแบบระบบการกักตัวใหม่ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การลดวันเท่านั้น ตอนนี้กระทรวงสาธาณสุขกำลังพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้ปลอดภัยมากที่สุด เมื่อได้แพ็จเกจในการดำเนินงานแล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
อย่างไรก็ดี จากชุดข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขใช้อ้างอิงเรื่องระยะเวลาการกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันยังคงใช้ระยะเวลาตามมาตรฐานที่ 14 วันเป็นหลัก เนื่องจากในข้อมูลมีการพบว่า 50% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ จะแสดงอาการได้เร็วสุดภายใน 7 วัน ในขณะที่ 99% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 12 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเทศที่ผู้ป่วยเดินทางมาด้วยว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า แนวคิดในการลดระยะเวลากักตัวนั้น ยืนยันว่าหลังจากครบระยะเวลากักตัวแล้ว จะยังต้องมีแนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่พ้นระยะการกักตัวด้วย เพราะคงจะไม่สามารถปล่อยให้ไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นโดยที่อาจยังมีความเสี่ยงหลงเหลืออยู่บ้าง
"ถ้าเราจะลดเวลาการกักตัวเหลือ 7 วัน หลังจากนั้น เราจะปล่อยให้คนที่เดินทางเข้าประเทศสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่ ก็คงไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่ได้คิดว่าจะอนุญาตให้คนที่เดินทางเข้าประเทศมา พอกักตัวเสร็จ จะสามารถเดินทางไปใช้ชีวิตกับคนอื่นได้เลย โดยที่ยังมีความเสี่ยงอยู่" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ทั้งนี้ จุดขายของประเทศไทย คือการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย เมื่อใดก็ตามที่ประเทศไทยกลับมามีการแพร่ระบาดของโรคอีก คงไม่มีใครอยากเดินทางมาท่องเที่ยว ดังนั้นมาตรการใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำออกไปนั้น จะต้องดำเนินการภายใต้ความปลอดภัยสูงสุด และสามารถสนับสนุนกิจการต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง
ด้าน น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจากประเทศจีนที่จะเดินทางไปยัง จ.ภูเก็ต นั้น รองผู้ว่าฯ ททท. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องสร้างความเข้าใจว่าการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศนั้น อยู่บนมาตรฐานเดียวกันแบบที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ โดยต้องปฏิบัติตัวเหมือนเช่นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันขอให้นักท่องเที่ยวไทยมั่นใจในระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งในกรณีของนักท่องเที่ยวจากเมืองกวางโจวที่จะเป็นกลุ่มแรกในการเดินทางเข้ามา จ.ภูเก็ต นั้น ททท.ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน จ.ภูเก็ต ที่ขอเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน และค่อยเข้ามาหลังจากจบงานเทศกาลกินเจแล้วในวันที่ 25 ต.ค.63
ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV) ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ เหนือไปกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV ยังคงต้องเข้ากระบวนการตรวจคัดกรองอย่างเคร่งครัด ตามแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข และต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงขอให้คลายกังวลต่อการเดินทางเข้ามาในประเทศของนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV
นอกจากนี้ ททท. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ในการสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการ 10 สาขาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้สมัครเข้ารับมาตรฐาน SHA หลังจากที่ ททท.ได้เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.63 โดยล่าสุดมีผู้สมัครเข้ามาแล้วกว่า 8 พันราย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและมาตรฐานตามข้อกำหนดของ ททท.และกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 5,889 ราย โดยกิจการที่ได้รับมาตรฐาน SHA มากที่สุด คือ โรงแรม-ที่พัก สถานที่จัดประชุม ภัตตาคาร-ร้านอาหาร และบริษัทนำเที่ยว
"ปีนี้เป็นปีพิเศษที่มีสถานการณ์โควิดเข้ามา ความสวยงามของการท่องเที่ยวอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่มาตรการด้านสาธารณสุขจะเป็นคำตอบสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย SHA เป็นตัวที่ตอบโจทย์ของการเป็น new normal ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว" น.ส.ฐาปนีย์กล่าว
พร้อมระบุว่า ต้องการเห็นคนไทยออกมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งปกติแล้วไตรมาสสุดท้ายของปีจะถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว โดยตัวเลขในไตรมาส 4 ปี 62 พบว่ามีนักท่องเที่ยวมากถึง 10 ล้านคน
"ปีนี้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่อยู่ การจะให้สภาพเศรษฐกิจเดินได้ การจะให้ตรึงการจ้างงานไว้ได้อยู่ คนไทยจะต้องช่วยกันเที่ยว รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายๆ อย่างที่เป็นประโยชน์ ขอให้เราช่วยใช้กัน" น.ส.ฐาปนีย์กล่าว