นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงนามประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง โดยระบุว่าตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าพายุระดับ 3 (โซนร้อน) หลิ่นฟา ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็น พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) และพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้บริเวณประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 11-14 ต.ค.63 นั้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. 63 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ และตรัง
2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณคลองพระสทึง จังหวัดสระแก้ว แม่น้ำมูล และแม่น้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ หรือเคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก และมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ,ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ
รวมทั้งเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ห้วยขอนแก่น อ่างฯ ห้วยป่าแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ลำพระเพลิง จังหวัดนคราชสีมา อ่างฯ ห้วยตาจู อ่างฯ ห้วยติ๊กชู อ่างฯ ห้วยตามาย อ่างฯ ห้วยทา จังหวัดศรีสะเกษ และ อ่างฯ ห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์ , ภาคกลาง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ห้วยมะหาด จังหวัดราชบุรี , ภาคตะวันออก จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างฯ หนองปลาไหล อ่างฯ ดอกกราย อ่างฯ คลองใหญ่ จังหวัดระยอง อ่างฯ เขาระกำ อ่างฯ ห้วยแร้ง อ่างฯ คลองสะพานหิน อ่างฯ คลองโสน จังหวัดตราด และอ่างฯ คลองพระสทึง จังหวัดสระแก้ว
นอกจากนี้ให้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน