พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. และนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.พร้อมคณะ ได้เดินไปตรวจราชการในพื้นที่ จว.สกลนคร เพื่อเร่งรัดติดตามความคืบหน้าการพัฒนาและฟื้นฟูบึงหนองหาร รองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ให้กลับมาเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์
โดยรับฟังการบรรยายสรุปถึงสภาพปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และสาเหตุการลดลงของศักยภาพการกักเก็บกักน้ำ และความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ภาพรวมจากส่วนราชการต่างๆ ในการบริหารจัดการและฟื้นฟูบึงหนองหาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่า 77,016 ไร่ มีลำน้ำไหลเข้ารอบทิศทาง 21 ลำน้ำ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 53 ตำบล รวมกว่า 1 ล้านไร่ ทั้ง จว.สกลนคร และนครพนม ประชาชนได้รับประโยชน์ 80,750 ครัวเรือน พร้อมทั้งรับทราบการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและนิเวศสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ ทั้งการชะลอและการกักเก็บน้ำ การบรรเทาอุทกภัยทั้งระบบลุ่มน้ำการปรับปรุงภูมิทัศน์ แนวเขตและการท่องเที่ยว การกำหนดแนวเขตหนองหาร รวมทั้งการจัดการน้ำเสียเทศบาลสกลนครและชุมชนรอบหนองหาร
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาบึงหนองหาร ระยะ 10 ปี รวม 62 โครงการ วงเงินกว่า 7,455 ล้านบาท โดยต้องการพัฒนาบึงหนองหารให้มีความสมบูรณ์เชื่อมโยงการผันน้ำจากลำน้ำพุงไปยังโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งภาคอีสานตอนบน รวมทั้งเพื่อการจัดการน้ำอุปโภคและบริโภคของประชาชน โดยเฉพาะการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน และเพื่อการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร โดยต้องการเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีกกว่า 25,000 ไร่
การดำเนินงานร่วมกันดังกล่าว มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ทุกส่วนราชการที่รับผิดชอบร่วมวางแผนและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เร่งรัดดำเนินการตามเป้าหมายและกรอบแผนงานงบประมาณ โดยขอให้ สทนช.ตั้งคณะทำงานกำกับและเร่งรัดขับเคลื่อนแผนหลักสู่การปฏิบัติตามเป้าหมายในภาพรวม พร้อมกำชับ จว.สกลนคร ให้กำหนดการกำจัดวัชพืชและน้ำเสียให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมในระยะสั้น และขอให้ มท. ร่วมทำหน้าที่กับ กษ.กำหนดรูปแบบการเพาะปลูกและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม พร้อมทั้งกำหนดระบบการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ให้เชื่อมต่อระบบชลประทานขนาดใหญ่ที่มีอยู่
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับขอให้ ทส. เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมและพัฒนาป่าไม้ต้นแบบพื้นที่ต้นน้ำหนองหารให้สมบูรณ์ โดยขอให้กรมชลประทาน เป็นหลักบูรณาการร่วมกับหน่วยงานใน กษ. ร่วมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงหนองหาร การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งกำหนดรูปแบบการเพาะปลูกและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม โดยดึงประชาคมในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมและการจ้างแรงงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาหนองหารให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ร่วมกันโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาต่อยอดขยายผลสำเร็จใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บึงโขงหลงและกว๊านพะเยาต่อไป