สธ.จ่อปรับมาตรการกักตัวให้เข้มข้น หลังชาวฝรั่งเศสติดเชื้อในประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday October 26, 2020 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดกรณีพบผู้ป่วยหญิงชาวฝรั่งเศสติดเชื้อโควิด-19 ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีว่า จากการสอบสวนโรคค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นการติดเชื้อมาจากภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามาจากการสัมผัสเชื้อในสถานที่กักกัน ซึ่งการสอบสวนโรคได้พยายามหาสาเหตุว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร หากพบว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในสถานที่กักกันจริง ก็จะต้องมีการทบทวนมาตรการต่างๆ และเข้มงวดในส่วนที่อาจจะก่อให้เกิดการแพร่โรค เพื่อทำให้เกิดความเหมาะสมต่อไป เพราะในหลายประเทศได้เคยเกิดการระบาดในสถานที่กักกัน และส่งผลเกิดการระบาดในที่ชุมชนมาแล้ว เช่น ในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย

"ดังนั้นการกำกับให้สถานกักกัน สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้เต็มที่ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและดูแล ถ้าเราทำตามมาตรการ ทำตามระดับความเสี่ยง ถ้าสามารถจัดการปัญหาได้ดี มั่นใจว่าเราจะสามารถป้องกันจัดการการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่กักกันได้เป็นอย่างดี" นพ.ธนรักษ์กล่าว

อย่างไรก็ดี กรณีของหญิงชาวฝรั่งเศสรายนี้ มีผู้สัมผัสรวม 120 คน แบ่งเป็น ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง 40 คน ประกอบด้วย คนในครอบครัว, คนในชุมชน, ผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกัน และผู้โดยสารแท็กซี่ ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อแล้ว 28 คน ผลออกมาแล้ว 27 คนไม่พบเชื้อ อีก 1 คนยังอยู่ระหว่างรอผล ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ 80 คนนั้น กำลังอยู่ระหว่างการติดตามให้ครบทุกราย ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีใครที่มีอาการ แต่ได้ให้ติดตามอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด

ส่วนสถานการณ์ที่พบชาวเมียนมาติดเชื้อโควิดที่ อ.แม่สอด จ.ตากนั้น หลังจากที่มีเหตุการณ์คนขับรถส่งของชาวเมียนมา ทำให้มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งมีการค้นหาเชิงรุกไปแล้วเกือบ 9 พันคน เจอผู้ป่วยติดเชื้อ 6 คน และล่าสุดยังไม่เจอผู้ติดเชื้อในชุมชนอื่นเพิ่มเติม มีแค่เพียง อ.แม่สอดเท่านั้น ดังนั้นถือว่าสถานการณ์ควบคุมโรคที่ อ.แม่สอด ค่อนข้างคลี่คลายไม่เจอผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีกนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.63 ขณะนี้อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การใช้ชีวิตตามแนวชายแดนสามารถกลับมาได้เป็นปกติ และค้าขายตามด่านพรมแดนได้อย่างปลอดภัย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่มีโอกาสจะเจอผู้ป่วยรายใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศตามแนวชายแดน หรือมาจากการเดินทางเข้ามาจากการโดยสารเครื่องบิน สิ่งที่สำคัญคือไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ได้เร็ว และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง และสนับสนุนให้ประเทศเปิดประเทศเปิดเศรษฐกิจประเทศได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคม และเศรษฐกิจ

"สถานการณ์ของไทยเป็นเพียงการพบผู้ป่วยใหม่เท่านั้น ยังไม่ใช่การระบาดใหม่รอบสอง การเจอผู้ป่วยใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิดคือ ป้องกันไมให้มีการแพร่ระบาด และทุกฝ่ายต้องดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

ส่วนความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะลดจำนวนวันกักตัวนั้น นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า การกักตัวด้วยระยะเวลาที่ 14 วันยังมีความเหมาะสม ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าผู้ป่วยถึง 99% จะมีการแสดงอาการภายใน 12 วันหลังจากติดเชื้อ และผู้ป่วยถึง 75% จะแสดงอาการภายใน 7 วันเท่านั้น ดังนั้นถ้าไทยสามารถบริหารจัดการการกักกันตัวที่ดี ไม่ปล่อยให้คนที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงออกมาสัมผัสกับคนอื่นนอกสถานกักกัน ในอนาคตก็มีความเป็นได้มากที่จะสามารถลดจำนวนวันกักตัวลงได้

"การทบทวนวันกักตัว ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสถานที่กักกัน ที่ผ่านมาเราบริหารจัดการอย่างไร คงต้องมีการทบทวน วันนี้ทีมงานจะประชุมเรื่องนี้ อย่าให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานเพียงแค่หนึ่งกรณี ก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อเรื่องอื่นๆ สำหรับคนทำงานความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดแล้วต้องลงไปแก้ไข และไปดำเนินการในรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์โดยรวมของประเทศจริงๆ" นพ.ธนรักษ์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ