นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการลดระยะเวลาการกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วันว่า จากข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ได้มีผลการศึกษาถึงระยะเวลาที่ใช้ในการกักตัว เพื่อสังเกตอาการว่าจะมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่นั้น พบว่าการกักกันโรคนาน 10 วัน และ 14 วันมีความเสี่ยงที่ไม่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ติดเชื้อที่พบภายหลังการกักตัว 10 วัน มักจะไม่มีอาการ ดังนั้นจึงมีโอกาสต่ำในการแพร่เชื้อสู่สาธารณะ
ทั้งนี้ การลดระยะเวลากักตัวเหลือ 10 วัน คาดว่าจะเริ่มใช้กับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงของโควิดต่ำหรือใกล้เคียงกับไทยก่อน เช่น จีน, มาเก๊า, เวียดนาม และไต้หวัน โดยในช่วงระยะเวลากักตัว 10 วันนี้ จะเพิ่มความถี่ในการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ทั้งหมด 3 ครั้ง คือวันที่เดินทางมาถึงไทย, วันที่ 5 และวันที่ 9 รวมทั้งจะเพิ่มการหาเชื้อด้วยการตรวจเลือดอีก 2 ครั้ง เพื่อดูภูมิคุ้มกันด้วย ซึ่งถ้าภายในระยะเวลา 10 วันที่กักตัวผลตรวจทุกครั้งเป็นลบ ก็จะสามารถออกจากสถานที่กักกันโรคได้
อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ครบ 10 วัน และออกจากสถานที่กักกันโรคแล้ว ในวันที่ 11-14 ผู้เดินทางยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของโรค เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รวมทั้งเพิ่มเติมในเรื่องของการมีระบบติดตามตัว ทั้งทางแอปพลิเคชั่น และริสแบนด์ด้วย
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการนี้ จะยึดตามข้อมูลความรู้และฟังความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น กรณีการกักกันโรค 10+4 วัน ก็ผ่านการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านจากผู้ทรงคุณวุฒิในทั้ง 3 ระดับแล้ว คือ คณะที่ปรึกษา, คณะกรรมการวิชาการ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ รวมทั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ
"ดังนั้นขอให้มั่นใจว่ากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เราบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่มี และเราจะค่อยๆ เริ่มทีละ step ถ้าได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการกักตัว 10+4 วัน เริ่มต้นในประเทศเสี่ยงต่ำ มีการตรวจเพิ่มเติมจากเดิม ทั้ง PCR และเพิ่มการตรวจเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกัน และหลังจากวันที่ 10 คือ วันที่ 11-14 เราจะมีระบบติดตามตัวทั้งแอปพลิเคชั่น และริสท์แบนด์ เพื่อให้แน่ใจว่าความเสี่ยงจะน้อยที่สุด" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส ยืนยันว่า การพบผู้ติดเชื้อไม่ว่ากรณีใดๆ นั้น ในระบบเฝ้าระวัง การตรวจจับ การสอบสวนโรคที่ได้พิสูจน์มาแล้วไม่ว่าจะเป็นกรณีของแม่สอด และกรณีสมุย เชื่อว่าบุคคลากรของกระทรวงสามารถรับมือได้ รวมทั้งการรักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ที่มีอย่างเพียงพอ จึงมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามาถรกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
กรณีสมุย เราถอดรหัสพันธุกรรม และพบว่าผู้ที่ติดเชื้อ 3 รายห้องใกล้เคียงกันเป็นเชื้อกลุ่มและสายพันธุ์เดียวกัน รหัสพันธุกรรมตรงกัน เชื้อมีความเชื่อมโยงกัน และมีบางสมมติฐาน สาเหตุการติดเชื้อเกิดจากการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี และอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งในส่วนนี้จะต้องนำไปสู่การตรวจสอบเพิ่มเติม และจะแถลงความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
"จุดนี้ เราจะต้องไปย้ำกับสถานกักกันโรคทั้งหลาย ให้เน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาด การดูแลพื้นที่ส่วนกลาง และระบบระบายอากาศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว