น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ในการสอบถามประชาชนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17 มิ.ย.-7 ก.ค.63 พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจในชีวิตระดับมาก-มากที่สุด 72.5% พึงพอใจปานกลาง 25.3% พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด 2.1% และไม่พึงพอใจเลย 0.1% และประชาชนได้ให้คะแนนความพึงพอใจในด้านชีวิตครอบครัวมากที่สุด 7.5734 คะแนน และให้คะแนนความพึงพอใจในด้านการเงินน้อยที่สุด 6.3892 คะแนน มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 7.1786 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
สำหรับความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ประชาชนมีความวิตกกังวลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด 53% มีความวิตกกังวลปานกลาง 32.4% มีความกังวลน้อย-น้อยที่สุด 12% และไม่มีความวิตกกังวลเลย 2.6% โดยประชาชนในชายแดนภาคใต้มีความกังวลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ คิดเป็น 69.6%
ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าประชาชน 90% ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต สูญเสียรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์ ประชาชน 46.3% มีรายได้ของครัวเรือนลดลง และ 44.1% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด 71.7% เชื่อมั่นปานกลาง 24.5% เชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุด 3.5% และไม่เชื่อมั่นเลย 0.3% มีคะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ย 7.1621 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังมีข้อเสนอแนะดังนี้ ควรมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาด และควรมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะไม่รุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดและป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำ และควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถช่วยเหลือแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤตการณ์